สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนก.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 107.41 เพิ่มขึ้น 7.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงเล็กน้อย -0.16% จากเดือน มิ.ย.65 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้น 5.89%
“เป็นครั้งแรกในรอบปี ที่เงินเฟ้อลดลงจากเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการตรึงราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง และการดูแลค่าครองชีพให้ผู้บริโภคฐานรากอย่างเข้มข้น ซึ่งทำให้ราคาสินค้ายังทรงตัว” นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนก.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 103.50 เพิ่มขึ้น 2.99% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.50% จากเดือน มิ.ย.65 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 7 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 2.01%
นายรณรงค์ กล่าวว่า สินค้ากลุ่มพลังงาน ยังเป็นสาเหตุหลักต่ออัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค.65 ซึ่งเป็นต้นทุนในทุกขั้นตอนการผลิตและโลจิสติกส์ของสินค้าและบริการ ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญสูงขึ้น
“กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคา 33.82% ส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อในเดือนก.ค.นี้ ถึง 52.57% แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงบางชนิด เช่น แก๊สโซฮอล์ และเบนซิน จะปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และก๊าซหุงต้ม ไม่ได้ปรับลดลง ซึ่งพลังงานเหล่านี้ เป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตและการขนส่งสินค้า”
ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
นายรณรงค์ กล่าวด้วยว่า สนค.ได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อสำหรับปีนี้ใหม่ เป็น 5.5-6.5% ค่าเฉลี่ยที่ 6% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 4.0-5.0% ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย
โดยการปรับประมาณการเงินเฟ้อใหม่นี้ มาจากสมมติฐานสำคัญ คือ 1. อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ 2.5-3.5% 2. ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 90-110 ดอลลาร์/บาร์เรล และ 3.อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี 33.50-35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี นอกจากสมมติฐานดังกล่าวแล้ว มาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพประชาชนของภาครัฐในปี 64 ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อในปีก่อนมีฐานต่ำ จึงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่มีผลให้อัตราเงินเฟ้อในปี 65 เพิ่มสูงขึ้นด้วย
ผู้อำนวยการ สนค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค.นี้ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเหตุผลทางเทคนิคจากฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 4/65 มีโอกาสปรับตัวลดลงจากฐานที่สูงของปีก่อน อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้ ซึ่งยอมรับว่าปัจจัยภายนอกมีผลต่อเงินเฟ้อของไทยเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศอื่นๆ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
“ปัจจัยภายนอก มีผลต่อเงินเฟ้อของไทยมาก และเงินเฟ้อของทุกประเทศก็สูงขึ้นในทุกเดือนเช่นกัน…เราไม่รู้ว่าเหตุการณ์ในอนาคตอะไรจะเกิดขึ้น ไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์ตึงเครียดในจีน สถานการณ์มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ราคาพลังงงานที่สูงขึ้น ก็มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ถ้าราคาพลังงานทรงตัว เงินเฟ้อก็จะไม่สูงมาก” นายรณรงค์ กล่าว
ส่วนสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ ภายหลังจากประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเดินทางเยือนไต้หวันนั้น ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้มีข้อสั่งการให้ทูตพาณิชย์ไทยติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ไม่เฉพาะแค่ประเทศจีนเท่านั้น แต่ให้ติดตามสถานการณ์ทุกประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของจีนด้วย ว่าความตึงเครียดดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อทิศทางการส่งออก-นำเข้าสินค้าอย่างไร ซึ่งจะมีการประชุมทูตพาณิชย์ในเดือนส.ค. เพื่อประเมินแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 65 ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 65)
Tags: lifestyle, กระทรวงพาณิชย์, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย