นพ.ธีระวัฒน์ เปิดนิยาม COVID Rebound คือการกลับมาเป็นซ้ำไม่ใช่ติดเชื้อซ้ำ

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึง COVID Rebound ว่า

1.ความหมายของ Rebound ในที่นี้แปลว่า การเป็นกลับซ้ำหรือปะทุกลับขึ้นมา ไม่ใช่ติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) ดังนั้น ต้องไม่สับสนระหว่าง Rebound กับ Reinfection โดยการเป็นกลับซ้ำนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วกินยาต้านไวรัส หรือไม่ได้กินยาต้านไวรัส

2.ลักษณะของการเป็นกลับซ้ำ การเป็นกลับซ้ำสามารถเกิดได้ 2 รูปแบบ จะเกิดพร้อมกันหรือเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ รูปแบบแรก คือ ปริมาณไวรัสในร่างกายปะทุสูงขึ้นมา หลังจากที่ติดเชื้อแล้วได้ยาต้านไวรัสจนปริมาณไวรัสลดลง หรือเวลาผ่านไปแล้วดีขึ้นจนไวรัสลดลง จนตรวจได้ผลเป็นลบ แต่กลับมีปริมาณไวรัสเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จนตรวจพบผลบวกกลับมาใหม่ เรียกว่า Viral rebound

ส่วนอีกรูปแบบ คือ อาการกลับเป็นซ้ำ คือ ติดเชื้อแล้วมีอาการป่วย ต่อมาได้รับยาจนดีขึ้นหรือหายป่วย หรือเวลาผ่านไปแล้วอาการดีขึ้นหรืออาการหมดไป แต่ผ่านไปไม่กี่วันก็กลับมีอาการกำเริบขึ้นมาใหม่หรือแย่ลง เรียกว่า Symptom rebound

ทั้งนี้ โอกาสเกิด Rebound นั้นมีประมาณ 5-10% ในคนที่ติดเชื้อแล้วได้รับยาต้านไวรัส ในขณะที่คนที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัสนั้น งานวิจัยของทีม Harvard Medical School พบว่า มีโอกาสเกิด Viral rebound 12% หรือราว 1 ใน 8 และ Symptom rebound ได้มากถึง 27% หรือราว 1 ใน 4

3. ช่วงเวลาที่พบการเป็นกลับซ้ำ โดยเฉลี่ยแล้วการเป็นกลับซ้ำเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วง 2-8 วัน หลังจากตรวจได้ผลลบ หรือหลังจากอาการทุเลาหรือหมดไป

4. ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเป็นกลับซ้ำ จากข้อมูลที่มีอยู่นั้น ไม่ว่าจะตรวจแล้วพบว่าผลบวกกลับมาซ้ำ (ขึ้น 2 ขีด) หรือมีอาการกลับซ้ำขึ้นมา สะท้อนว่าคนคนนั้นยังมีภาวะติดเชื้ออยู่ และมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้น จึงเห็นกรณีผู้ป่วยที่เกิด Rebound ในต่างประเทศ ที่ต้องเริ่มแยกตัวใหม่อีกครั้งเพื่อป้องกันไม่ไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

5. การปฏิบัติตัวกรณีเกิดเป็นกลับซ้ำ ถึงแม้จะยังไม่มีงานวิจัยจำเพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ระยะเวลาที่ควรแยกตัวนั้น ควรเป็นไปตามความรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนว่า ดีที่สุดคือการแยกตัวจากคนอื่น 2 สัปดาห์ แต่หากจำเป็นต้องกลับไปทำงานหรือเรียน การแยกตัวควรทำอย่างน้อย 10 วัน และต้องแน่ใจว่าไม่มีอาการป่วย และตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ซ้ำแล้วได้ผลลบ

อย่างไรก็ตาม หากแยกตัวเพียง 5 วัน หรือ 7 วัน โอกาสที่ผู้ป่วยจะยังมีเชื้อและแพร่ต่อผู้อื่น อาจมีได้ถึง 50% และ 25% ตามลำดับ จึงไม่แนะนำให้แยกตัวช่วงเวลาสั้นเช่นนี้ เพราะจะมีความเสี่ยงสูงในการแพร่เชื้อในชุมชน

6. ความรุนแรงจากการเป็นกลับซ้ำ ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันผู้ป่วยที่ Rebound มีแนวโน้มที่จะไม่รุนแรงจนต้องทำให้ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต

7. การรักษา หากพบว่าเกิด Rebound ให้รักษาตามอาการ ประคับประคองจนผ่านพ้นระยะเวลาแยกตัว ส่วนใหญ่จะดีขึ้นเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัสซ้ำ แต่หากมีปัญหาเจ็บป่วยรุนแรง การให้ยาต้านไวรัสและอื่นๆ ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแลรักษา

“สำคัญที่สุดคือ การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หากไม่ติดเชื้อ ก็ไม่เสี่ยงที่จะป่วยและเสียชีวิต ไม่เสี่ยงต่อการเกิดเป็นกลับซ้ำ และไม่เสี่ยงต่อ Long COVID ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอคือหัวใจสำคัญ” นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ส.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top