สำนักข่าวซีเอ็นบีซีนำเสนอบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า กรณีการเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ส่งผลให้ผู้คนหันมาสนใจบทบาทของไต้หวันในด้านซัพพลายเชนชิประดับโลก โดยเฉพาะกับบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง คอมพานี (TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก
เซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในสมาร์ตโฟนไปจนถึงรถยนต์และตู้เย็น ได้กลายเป็นองค์ประกอบหลักในการหักเหลี่ยมเฉือนคมด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยวิกฤตชิปขาดแคลนที่ผ่านมาเป็นตัวกระตุ้นให้สหรัฐพยายามหาหุ้นส่วนด้านเซมิคอนดักเตอร์กับชาติพันธมิตรในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อเป็นการรับประกันว่าจะมีชิปมากพอและรักษาความเป็นผู้นำเหนือจีน
ทั้งนี้ เป็นที่วิตกกันว่าหากจีนบุกไต้หวัน อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโครงสร้างอำนาจในตลาดชิปโลก โดยจะทำให้จีนครองอำนาจควบคุมเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้ การบุกไต้หวันก็อาจทำให้เกิดภาวะชิปขาดแคลนทั่วโลกอีกด้วย
นายอบิชูร์ ปรากาช ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคตเปิดเผยกับซีเอ็นบีซีผ่านทางอีเมลว่า “เป็นไปได้สูงว่าจีนจะ ‘โอนกิจการ TSMC มาเป็นของรัฐ’ แล้วเริ่มผนวกบริษัทและเทคโนโลยีดังกล่าวเข้าในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน”
ขณะเดียวกัน TSMC ก็อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีน และอาจถูกบีบให้ต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง
“อันที่จริง บริษัทอย่าง TSMC อาจได้ ‘เลือกข้างไปแล้ว’ ด้วยซ้ำ จากการที่บริษัทกำลังลงทุนในสหรัฐเพื่อสนับสนุนการผลิตชิปของอเมริกา แถมยังเคยกล่าวว่าต้องการร่วมงานกับ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ อย่างสหภาพยุโรป (EU) ในด้านการผลิตชิปอีกด้วย”
นายปรากาชกล่าว
“หลายบริษัทกำลังแสดงออกถึงความคิดทางการเมืองกับประเทศที่ร่วมงานด้วยมากขึ้นเรื่อย ๆ คำถามก็คือ เมื่อความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับจีนเพิ่มขึ้น TSMC จะยังคงรักษาจุดยืน (เข้าข้างตะวันตก) ได้หรือไม่ หรือจะถูกบังคับให้ต้องปรับกลยุทธ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ใหม่”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ส.ค. 65)
Tags: TSMC, สหรัฐ, แนนซี เพโลซี, ไต้หวัน