งาน “Bitcoin Maximalist & Beers” ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “13 ปีที่ผ่านมา Bitcoin ตายมาแล้วกี่ครั้ง? และมีธุรกิจใดที่โดน Disrupt เพราะ Bitcoin??” ระบุว่า บิทคอยน์ (Bitcoin) คือสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) สกุลแรกของโลกที่ถูกสร้างและใช้แลกเปลี่ยนกันบน บล็อกเชน (Blockchain) ภายใต้การทำงานแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) เป็นการทำธุรกรรมที่ถูกตรวจสอบจากระบบคอมพิวเตอร์ทั่วทุกมุมโลก เพื่อเป็นพยานแก่การทำธุรกรรมนั้น ๆ โดยปราศจากการควบคุมหรือการกำกับดูแลของตัวกลาง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน รัฐบาล หรือ ธนาคารกลางใด ๆ จึงถือได้ว่าบิทคอยน์เป็นสกุลเงินที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของใคร และให้สิทธิเท่าเทียมแก่ผู้ที่ถือครองมัน
ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา บิทคอยน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการเป็นทางเลือกให้กับคนที่จะสามารถเข้าถึงระบบการเงินที่เชื่อมต่อกันทั้งโลกโดยไม่มีพรมแดนปิดกั้น อีกทั้งเรายังจะเห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหลายธุรกิจทั่วโลกเริ่มมีนโยบายรองรับบิทคอยน์ในการแลกเปลี่ยนหรือชำระค่าสินค้าและบริการ จึงอาจทำให้ธุรกิจหรือบริการที่มีรูปแบบการชำระเงินด้วยเงินสด ธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือธนาคารที่เป็นศูนย์กลางในการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินต่าง ๆ อาจต้องถูก Disrupt ไปในอนาคต
และด้วยหลักการที่คล้ายคลึงกับการขุดทองคำ บิทคอยน์มีจำนวนเหรียญที่ถูกจำกัดไว้ด้วยระบบสมการทางคณิตศาสตร์เพียง 21 ล้านเหรียญ มีความเป็นเอกเทศ ไม่มีใครสามารถมาคุมราคา (Manipulate) ได้ และมีกลไกที่ชัดเจน โดยจะถูกปล่อยออกมาผ่านการขุดบิทคอยน์หรือการแก้ไขสมการด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ปริมาณเหรียญบิทคอยน์ที่ถูกปล่อยก็จะลดน้อยลง 50% ในทุก ๆ 4 ปี ส่งผลให้การขุดบิทคอยน์ต่อจากนี้จะมีปริมาณที่ลดลง แต่เหรียญกลับมีมูลค่าสูงขึ้นจากความต้องการตามกลไกตลาด
เนื่องจากบิทคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ทำธุรกรรมโดยต้องอาศัยการตรวจสอบจากระบบทั่วโลก ปราศจากธนาคารหรือหน่วยงานใดเป็นตัวกลาง จึงไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีการผันผวนตามสภาพเศรษฐกิจ และความมั่นคงเมื่อเทียบกับการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินปกติ เรียกได้ว่าเป็นธุรกรรมคงทนถาวร ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ธนาคารทั่วไปไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกันบิทคอยน์ก็ยังรองรับการทำธุรกรรมในระดับธนาคารกลางโลกตลอดเวลา ถือเป็นเสน่ห์ที่นักลงทุนหลั่งไหลเข้ามาแสดงแสวงหากำไรในการขุดและซื้อขายบิทคอยน์กันอย่างแพร่หลาย
คำว่า Bitcoin Maximalist เริ่มปรากฏในช่วงปี 2018 หมายถึง กลุ่มคนที่สนับสนุนในบิทคอยน์เป็นอย่างมาก ซึ่งคำนี้สามารถตีความได้หลายแง่มุม ในแง่ดีอาจจะเรียกว่าเป็น “แฟนคลับพันธุ์แท้” ของบิทคอยน์ ที่จะออกมาเคลื่อนไหวในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง และคอยให้ข้อมูลความรู้ด้วยความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในตัวของบิทคอยน์ หรือในอีกมุมมองการเป็น Bitcoin Maximalist อาจจะเป็นคนที่มั่นใจในบิทคอยน์อย่างสุดโต่ง โดยไม่ยอมเปิดรับสิ่งใหม่หรือเทคโนโลยีใด ๆ ที่เข้ามาขัดแย้งกับสิ่งที่เชื่อถือ บางครั้งก็อาจรวมถึงสกุลเงินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากบิทคอยน์
โดยช่วงไม่กี่ปีมานี้ Bitcoin Maximalist มักจะเป็นถูกใช้เป็นคำแสลงในวงการการลงทุนสกุลเงินดิจิทัลที่มีความหมายในเชิงลบ หรือเป็นคำถากถางกับคนที่เห็นต่าง ซึ่งจะมีความแตกต่างกับ Bitcoiner หรือผู้ที่ลงทุนหรือชื่นชอบในบิทคอยน์ที่มองอย่างเป็นกลางว่าเป็นสกุลเงินที่มีความแข็งแกร่ง แต่ก็ไม่ได้มองว่าการลงทุนในบิทคอยน์จะทำให้ประสบความสำเร็จที่สุด หากแต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องประกอบกับในสนามการลงทุนนี้
ในโลกของคริปโทเคอร์เรนซีที่มีการเชื่อมต่อกันของโลกที่ไร้พรมแดน นั่นหมายความว่าเรากำลังแข่งขันกับคนจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อให้ได้สินทรัพย์เหล่านั้นมาครอบครอง และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในโลกการลงทุนที่ไม่มีตัวกลางควบคุมเช่นนี้จะเต็มไปด้วยกลยุทธ์ที่หลอกหลวงเต็มไปหมด เช่น สแกมเมอร์ (Scammer) ที่คอยล่อหลอกด้วยวิธีการต่าง ๆ และขโมยเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลของเราออกไปจนหมด หรือแม้แต่หน้าเว็บไซต์ที่ทำธุรกรรมปลอมที่หากไม่ใช่คนที่ไม่เข้าใจในสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) อาจไม่สามารถรู้ได้เลย ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยทั้งความรู้ในสินทรัพย์และประสบการณ์ของนักลงทุนเองเพื่อประกอบการตัดสินใจ
อนึ่ง งานดังกล่าวจัดขึ้นโดยนางสาวฟรานเชสก้า รุสโซ่ ผู้ก่อตั้ง Crypto Meetup Thailand โดยมีเหล่ากูรูเข้าร่วม ได้แก่ นายพิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการผู้จัดการ Chaloke.com และ นายวิชิต ซ้ายเกล้า เจ้าของ CHIT BEER ที่มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับบิทคอยน์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ส.ค. 65)
Tags: bitcoin, Cryptocurrency, คริปโทเคอร์เรนซี, บิตคอยน์, บิทคอยน์, สกุลเงินดิจิทัล