พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ว่า วัคซีนที่ทั่วโลกมีใช้ในขณะนี้ทุกชนิด ถูกผลิตจากไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น ในระยะแรกเกิดข้อกังวลในการใช้วัคซีนดั้งเดิมกับไวรัสกลายพันธุ์ ตลอดช่วงระยะเวลา 1 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เริ่มมีการฉีดวัคซีนเข็มแรก การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการระบาดของสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) เกิดขึ้นหลายระลอก จากการเก็บข้อมูลทั่วโลกพบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนที่มี ยังคงมีประสิทธิผลในการลดอัตราการป่วยที่รุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตหลายรายพยายามพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ ให้มีความจำเพาะกับไวรัสกลายพันธุ์มากขึ้น โดยล่าสุด ทั้งโมเดอร์นา ไฟเซอร์ และโนวาแวกซ์ อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ เพื่อสู้กับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 โดยโนวาแวกซ์ อยู่ระหว่างการวิจัยวัคซีนเฟส 3
สำหรับโมเดอร์นา อยู่ระหว่างการวิจัยวัคซีนเฟส 3 โดยได้เสนอผลการศึกษาต่อองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (USFDA) แล้ว ผลการศึกษาพบว่า การฉีดบูสเตอร์เข็มที่ 4 ด้วยวัคซีนรุ่นใหม่ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (neutralizing antibody) ต่อโอมิครอน BA.1 ได้สูงกว่าวัคซีนสูตรเดิม 1.75 เท่า ทั้งในผู้ที่ไม่เคยมีประวัติติดเชื้อ และเคยติดเชื้อมาก่อน และทั้งกลุ่มผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
ขณะที่การฉีดบูสเตอร์เข็มที่ 4 ด้วยวัคซีนรุ่นใหม่ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับวัคซีนสูตรเดิม อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนโมเดอร์นารุ่นแรกเป็นเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 ยังคงมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนได้ถึง 70% และป้องกันการป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้สูงถึง 99% ภายหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเวลามากกว่า 60 วัน
ส่วนไฟเซอร์ อยู่ระหว่างการวิจัยวัคซีนเฟส 2/3 และได้เสนอผลการศึกษาต่อ USFDA แล้ว โดยการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ด้วยวัคซีนโอมิครอนรุ่นใหม่ (Omicron-modified vaccine 30 Mg) ทั้งชนิด monovalent และ bivalent สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน BA.1 ได้สูงกว่าวัคซีนสูตรเดิม (BNT162b2) 1.75 เท่า และมีสัดส่วนของอาสาสมัครที่ตอบสนองต่อวัคซีนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับวัคซีนสูตรเดิม
“วัคซีนรุ่นใหม่ กระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับวัคซีนสูตรเดิม การฉีดวัคซีนรุ่นใหม่ทั้งชนิด monovalent และ bivalent เป็นเข็มที่ 4 (6 เดือนหลังเข็มที่ 3) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน BA.1 ได้ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น”
พญ.สุเนตร กล่าว
อย่างไรก็ดี วัคซีนรุ่นใหม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ในระดับหนึ่ง
พญ.สุเนตร กล่าวว่า ด้าน USFDA ระบุว่าวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังสามารถใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบันได้ วัคซีนรุ่นใหม่ที่คิดค้นมาเพื่อต่อสู้กับโอมิครอน BA.1 สร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่มากกว่ารุ่นเก่ามากนัก จึงแนะนำว่าควรพัฒนาวัคซีนต่อสายพันธุ์ใหม่ BA.4 และ BA.5
อย่างไรก็ตาม เมื่องานวิจัยเรื่องวัคซีนออกมา ก็ต้องมีการพิจารณาในการผลิตวัคซีน ซึ่งต้องใช้เวลาในการผลิตถึงประมาณ 6 เดือน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดหลักได้ในอนาคต เนื่องจากมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องของเชื้อไวรัส
“การฉีดวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้ประสิทธิภาพจะไม่สูงเมื่อเทียบกับวัคซีนรุ่นใหม่ แต่ก็ถือว่าดีที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถป้องกันสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดอยู่ได้เพียงพอ ลดป่วยหนัก และเสียชีวิตได้”
พญ.สุเนตร กล่าว
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการขอข้อมูลของวัคซีนรุ่นใหม่จากบริษัทต่างๆ จากข้อมูล FDAUS แนะนำให้บริษัทต่างๆ พัฒนาวัคซีนที่สู้กับโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ขณะที่วัคซีนจากบริษัทในประเทศต้นทางก็ยังไม่อนุญาตการใช้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการสั่งซื้อวัคซีน และอีกประเด็นสำคัญคือยังไม่รู้ว่าการพัฒนาสายพันธุ์ของโควิดจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน ด้านศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ของประเทศไทย ก็อยู่ระหว่างพัฒนาวิจัยวัคซีนเพื่อสู้กับโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เช่นกัน
พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงผลการศึกษา การประเมินประสิทธิผลวัคซีนใช้จริงระดับประเทศ ช่วงการระบาดสายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. 65 พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ไม่ป้องกันการติดเชื้อ แต่ลดป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจ 70% และลดการเสียชีวิต 72%, ผู้ที่ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 6% ลดป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจ 90% และลดการเสียชีวิต 91%, ผู้ที่ฉีดวัคซีน 4 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 71% ลดป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจ 99% และลดการเสียชีวิต 99% และผู้ที่ฉีดวัคซีน 5 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อได้ 83%
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีน 2 เข็มแบบไขว้ มีประสิทธิผลลดการป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจได้ 72-83% โดยสูงกว่าการฉีด 2 เข็มแบบคู่ทุกแพลตฟอร์ม ทั้งวัคซีนชนิด mRNA 72-77%, วัคซีนชนิด Viral vector 58% และวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated) 66-75%
นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 และ 4 เพิ่มประสิทธิผลวัคซีนแบบสองเข็ม โดยเฉพาะลดการป่วยที่รุนแรงแบบใส่ท่อหายใจและลดการเสียชีวิตจาก 70% เป็น 90% และ 99% ตามลำดับ โดยไม่ว่าจะฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด mRNA หรือ Viral vector ประสิทธิผลไม่ต่างกัน อยู่ที่ 87% และ 92% ตามลำดับ ขณะที่การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 และ 5 ป้องกันการติดเชื้อ 71% และ 83% ตามลำดับ ในช่วงการระบาดโอมิครอนปี 65
ดังนั้น ประชาชนทุกคนในประเทศไทย ควรได้รับวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด 3 เข็ม สูตรใดก็ได้เป็นพื้นฐาน เพื่อให้ปลอดภัยจากการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิดมากกว่า 90% ทั้งนี้ สูตร 2 เข็มแรกแบบไขว้ และกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยชนิด Viral vectors หรือ mRNA มีประสิทธิผลสูงในช่วงการระบาดของโอมิครอน
สำหรับประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยรุนแรงจากโควิด และประชากรที่ต้องการผลลดการติดเชื้อ ลดการแพร่ระบาด ควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 4 เข็มขึ้นไป โดยเว้นระยะห่างเข็มสุดท้ายของวัคซีนให้เหมาะสม หรือประมาณ 4 เดือนขึ้นไป
อย่างไรก็ดี ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อเนื่อง และประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนการป้องกันป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตมีนานกว่า 6 เดือน ดังนั้น มาตรการสำคัญระยะเปลี่ยนผ่านการจัดการโควิด จึงเป็นมาตรการควบคุมโรคบูรณาการ ประกอบด้วย มาตรการฉีดวัคซีนในประชากรเป้าหมายให้สูงเพียงพอ ร่วมกับมาตรการสังคม ที่เน้นการสวมหน้ากากอนามัยเว้นระยะห่าง ลดความแออัด ร่วมกับมาตรการการแพทย์ที่เน้นการตรวจหาการติดเชื้อเร็ว และรักษาเร็วด้วยยาที่มีประสิทธิภาพ
นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวสรุปผลและข้อเสนอแนะเบื้องต้นสำหรับการศึกษาในช่วง 1 ต.ค. 64 – 10 เม.ย. 65 ว่า จากการศึกษาการฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 หรือเข็ม 4 พบว่า สูตรผสมหรือสูตรไขว้ ที่ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศเลือกใช้ โดยใช้สูตรวัคซีนเชื้อตาย (วัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม) หรือไวรัสเป็นพาหะ (วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า) เป็น 2 เข็มแรก หากกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า หรือ mRNA ได้ผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิดไม่แตกต่างกับการฉีด MRNA อย่างเดียว 3 หรือ 4 เข็ม
ทั้งนี้ วัคซีนเข็ม 3 และเข็ม 4 ทุกสูตรผสมที่ใช้ในประเทศไทย ช่วยลดอาการรุนแรงที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจหรือการเสียชีวิตได้สูงมากๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคร่วม ควรเร่งกระตุ้นฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) ร่วมไปกับมาตรการป้องกันส่วนบุคคลที่ใช้ในปัจจุบัน ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงที่มีคนหนาแน่น จะมีส่วนช่วยลดการระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ และที่สำคัญลดการตายในผู้สูงอายุหรือโรคร่วม
“การได้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 มีผลป้องกันการติดเชื้อได้สูง และป้องกันการตายได้สูงมาก ควรพิจารณาให้เข็มกระตุ้นเข็ม 4 หลังจากฉีดเข็ม 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยอาจพิจารณาในกลุ่ม 608 เช่นเดียวกัน”
นพ.สุวัฒน์ กล่าว
นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ในอนาคตเมื่อประกาศโรคโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่การเน้นมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดคงปฏิบัติได้ยาก ดังนั้น การได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ให้ครอบคลุมมากกว่า 70-80% ขึ้นไปโดยเร็วในปี 65 น่าจะมีส่วนสำคัญต่อการลดการตายในผู้ป่วย 608 และการติดเชื้อได้ระดับหนึ่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ส.ค. 65)
Tags: COVID-19, นคร เปรมศรี, ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, วัคซีนเข็มกระตุ้น, สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์, สุเนตร ชื่นกิจมงคล, โควิด-19