พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร และอดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงกรณีการควบรวมทรูและดีแทคว่า การควบรวมไม่ใช่เรื่องใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ที่ผ่านมาก็มีการควบรวมเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 9 ราย ซึ่งเป็นการแจ้งการควบรวมตามประกาศ กสทช. ปี 61
การควบรวมไม่ใช่กฎหมายที่เพิ่งเขียนขึ้นมา แต่เป็นประกาศที่ใช้มาแล้วถึง 9 ดีล รวมถึงการควบรวมการสื่อสาร (CAT) และองค์การโทรศัพท์ (TOT) ซึ่งล้วนเป็นไปตามประกาศปี 61 โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. เพราะตามประกาศ กสทช.ปี 61 เช่นเดียวกับการรวมกิจการการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซึ่งเป็นการควบบริษัท (Amalgamation) จึงไม่ต้องขออนุญาตจาก กสทช. เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช.ปี 61 ที่ได้ใช้มาหลายกรณีแล้วนั้น เมื่อ กสทช.รับทราบ หากมองว่าอาจจะมีผลกระทบเกิดขึ้น กสทช.สามารถกำหนดเงื่อนไข มาใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ ซึ่งในกรณีนี้ก็ควรเป็นเช่นเดียวกับดีลที่ผ่าน ๆ มา ไม่น่ามีเหตุผลใดที่จะเลือกปฏิบัติให้แตกต่างจากดีลที่ผ่านมา
ส่วนกรณีมีการยกประกาศฉบับอื่น ๆ นอกจากประกาศ กสทช. ปี 61 มาใช้อ้างอิงกรณีควบรวม ทรู และ ดีแทค นั้น พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าวว่า การยกมาอ้างทำให้สังคมเกิดความสับสน ซึ่งต้องแยกให้ออกก่อนว่า “การควบรวม” แตกต่างจาก “การเข้าซื้อกิจการ” ดังนั้นการควบรวมที่ผ่านมา รวมถึงกรณีของทรูและดีแทค ต้องใช้ประกาศ กสทช. ปี 61 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ได้รับใบอนุญาตที่ต้องการรวมธุรกิจ ต้องรายงานการรวมธุรกิจต่อเลขาธิการ กสทช. ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนจดทะเบียนควบบริษัท
ส่วนการที่มีคนยกกฎหมายฉบับอื่นมาอ้างอิงนั้น เช่น ประกาศ กสทช. ปี 53 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว หรือ ประกาศปี 49 ที่เป็นเรื่องของการเข้าซื้อกิจการ มาใช้อ้างอิงนั้น พ.อ.เศรษฐพงศ์ เห็นว่าทำไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน
กสทช. ยกเลิกกฎหมายเรื่องการแข่งขันสองครั้ง ครั้งแรกเนื่องจากประกาศปี 49 ไม่ได้พูดเรื่องการควบรวม จึงออกประกาศปี 53 มาใช้กับการควบรวม และเมื่อมีประกาศปี 61 เรื่องการรวมธุรกิจ ก็ได้ยกเลิกประกาศปี 53 ไปแล้ว เหตุที่ยกเลิกประกาศปี 53 ไปเพราะหลักเกณฑ์ไม่ตรงตามบัญญัติในกฎหมายแม่บท โดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ไม่ได้ให้อำนาจ กสทช.ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจแต่อย่างใด ดังนั้นจึงเกิดประกาศเรื่องการรวมธุรกิจปี 61 ออกมาใช้แทน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯและ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯข้างต้น
พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าวต่อว่า การอ้างถึงหรือการนำประกาศ กสทช.ปี 53 มาใช้ในการพิจารณาการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมจึงไม่ถูกต้อง เพราะถูกยกเลิกไปแล้ว ไม่ควรนำมาทำให้สังคมสับสน และไม่ควรยกประกาศ กสทช.ปี 49 มาใช้กับกรณีการควบรวมธุรกิจทรูและดีแทค เพราะเป็นคนละกรณีกัน เปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะประกาศ กสทช.ปี 49 เป็นเรื่องการซื้อกิจการระหว่างกัน (Acquisition) ต่างจากการควบรวม (Amalgamation)
ทั้งนี้ ประกาศ กสทช. ปี 49 เป็นการบังคับผู้รับใบอนุญาตที่ดำเนินการซื้อกิจการ (Acquisition) ด้วยการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้นเกินกว่า 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ต้องขออนุญาตจาก กสทช. ก่อน ดังนั้น ประกาศ กสทช. ปี 49 จึงไม่สามารถใช้บังคับกับการรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและ ดีแทคในครั้งนี้
“ดีลทรูและดีแทค ไม่ใช่ดีลแรกในการควบรวมภายใต้ประกาศ กสทช. ปี 61 ที่ผ่านมาก็มีถึง 9 ดีล ทำไมถึงจะมีปัญหาเฉพาะกรณีนี้ได้อย่างไร ทุกกรณีต้องพิจารณาอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ เรามีกฎระเบียบกำกับดูแล ก็ควรยึดตามหลักเกณฑ์ หากดูจากแนวปฏิบัติของ กสทช. ในการพิจารณาการควบรวมที่ผ่านมา หลังจากที่ประกาศเรื่องการรวมธุรกิจฯ ปี 2561 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2561 มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมไม่น้อยกว่า 9 รายดำเนินการแจ้งการรวมธุรกิจภายใต้ประกาศดังกล่าว ซึ่ง กสทช. ก็มีมติเพียง “รับทราบ” การแจ้งการรวมธุรกิจเหล่านั้นเท่านั้น โดยมิได้ออกคำสั่ง “อนุญาต” และมิได้อาศัยอำนาจตามประกาศเรื่องมาตรการป้องกันการผูกขาดฯ ปี 2549 มาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรวมธุรกิจระหว่างบมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่ง กสทช. ก็มีมติเพียง “รับทราบ” การแจ้งการรวมธุรกิจเหล่านั้นเท่านั้น ซึ่งเป็นการรวมธุรกิจโดยวิธีการควบบริษัทดังเช่นการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ในครั้งนี้ ดังนั้น กสทช ก็ต้องดำเนินการแบบเดียวกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ”พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าว
พ.อ.เศรษฐพงศ์ ยังกล่าวถึง กรณีที่สังคมกังวลว่า ราคาจะสูงขึ้นจนกระทบเศรษฐกิจ ว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะ กสทช. มีกฎหมาย และ อำนาจ ในการกำหนดเพดานราคาอยู่แล้ว การจะคาดคะเนว่า ราคาจะสูงขึ้น เกินกรอบเพดาน ที่กสทช.ควบคุมนั้น ผู้ประกอบการทุกรายมีใบอนุญาต ทุกคนต้องเคารพกฎระเบียบอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ก็ควบคุมเพดานราคาได้ดี จนประเทศไทยมีราคาค่าบริการถูกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องของราคาคงไม่ต้องกังวล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 65)
Tags: DTAC, TRUE, กสทช., พรรคภูมิใจไทย, เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ