บมจ.ทรีซิกตี้ไฟว์ (TSF) ชี้แจงแนวทางและความคืบหน้าเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของบริษัทว่าจากข้อมูลที่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคดีความระหว่างบริษัทกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรณีศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้บริษัทชำระหนี้เงินให้แก่ กทม. จำนวน 402 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย (มูลฟ้อง 1,123 ล้านบาท) โดยหนี้เงินดังกล่าวเกิดจากการที่บริษัทผิดสัญญาในช่วงปี 2559 ไม่ชำระค่าสิทธิรายเดือน ค่าสิทธิรายปี ค่าปรับและค่าเสียหายอื่นๆ อันเกิดขึ้นตามสัญญาระหว่าง บริษัทกับ กทม. และ กทม. ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
นอกจากนี้กทม. ยังได้ฟ้องร้องบริษัทจำนวนทุนทรัพย์ 243 ล้านบาทกรณีที่บริษัทผิดสัญญาในปี 2561 ไม่ชำระค่าสิทธิรายเดือนคงค้าง ค่าปรับจากการใช้สิทธิ ค่าปรับจากการไม่ถอดถอนป้ายค่าเสียหาย จากการขาดประโยชน์ซึ่งคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งรวมจำนวนหนี้ทั้งหมด ประมาณ780 ล้านบาทนั้น
บริษัทขอชี้แจงข้อมูล ดังนี้
1. ลักษณะการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทในปัจจุบัน คณะกรรมการอยู่ระหว่างการวางแผนการประกอบธุรกิจในลักษณะใหม่ โดยได้วางแผนธุรกิจร่วมกับคู่ค้าภาคเอกชน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภาครัฐ จำนวนหลายโครงการ โดยเน้นธุรกิจที่ใช้เงินทุนหมุนเวียนไม่มาก และใช้บุคลากรจำนวนน้อย เพื่อให้บริษัทใช้เงินทุนหมุนเวียนไม่มากเกินไป และไม่เกิดค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น ซึ่งธุรกิจแต่ละรูปแบบที่ได้วางแผนไว้อาจจะสามารถดำเนินการได้
แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ประกอบกับบริษัทมีคดีข้อพิพาทกับ กทม. ซึ่งบริษัทถูก กทม. ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากบริษัทผิดสัญญา โดยทุนทรัพย์ที่บริษัทถูก กทม. ฟ้องร้องรวมทุกคดีประมาณมากกว่า 1,200 ล้านบาท ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างมาก เนื่องจากคู่ค้าของบริษัทไม่มีความเชื่อมั่นว่าหากบริษัทแพ้คดี กทม. และถูกบังคับคดีจาก กทม. จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทมากน้อยเพียงใด ซึ่งในประเด็นเรื่องคดีข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับ กทม. นั้น บริษัทได้หาช่องทางขอเจรจาเกี่ยวกับรายละเอียดและเงื่อนไขในการชำระหนี้กับ กทม. มาโดยตลอด แต่ด้วยเหตุว่า กทม. มีฐานะเป็นหน่วยงานภาครัฐ จึงมีข้อจำกัดและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องมาก ไม่สามารถเจรจาชำระหนี้ดังเช่นเอกชนได้
นอกจากนี้ คณะกรรมการได้พยายามนำเสนอแผนธุรกิจและแผนการแก้ไขปัญหาของบริษัทกับนักลงทุนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ นักลงทุนต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมรายใหญ่ของบริษัทบางรายเพื่อระดมเงินทุนมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจด้านต่างๆ รวมทั้งเพื่อนำเงินบางส่วนมาชำระหนี้ให้แก่ กทม.แต่ไม่ประสบผลสำเร็จดังจะเห็นได้จากการเพิ่มทุนของบริษัทในแต่ละครั้งที่ได้รับเงินเพิ่มทุนมาเพียงเล็กน้อยจนกระทั่งต้องยกเลิกการเพิ่มทุนและคืนเงินให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน
คณะกรรมการเห็นว่าหากยังไม่มีความคืบหน้าและความชัดเจนในการระดมทุนเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่ กทม การหานักลงทุน การเจรจารายละเอียดและเงื่อนไขการชำระหนี้ให้ กทม. รวมทั้งการแต่งตั้งกรรมการและฝ่ายบริหารเข้ามาดำเนินการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทต่อ กลุ่มบริษัทจำเป็นจะต้องชะลอการประกอบธุรกิจจนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
2. ความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีความที่มีกับ กทม. รวมถึงคดีความฟ้องร้องอื่น ในปัจจุบัน เจ้าหนี้ของกลุ่มบริษัทมีเพียงรายเดียว คือ กทม. โดยมีข้อพิพาทรวม 2 คดีดังนี้
– คดีหมายเลขดำที่ 1869/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ 1750/2564 จำนวนทุนทรัพย์ที่ กทม. ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัท จำนวนประมาณ 1,123,153,699.84 บาท โดยศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้บริษัทชำระหนี้เงินให้แก่ กทม. จำนวน 401,601,987.52 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2560 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (คำนวณดอกเบี้ยจนถึงปัจจุบัน ประมาณ 140 ล้านบาท ซึ่งรวมกับต้นเงินที่จะต้องชำระแล้ว ในปัจจุบันบริษัทมีหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระให้แก่กรุงเทพมหานคร ประมาณ 540 ล้านบาท) โดยหนี้เงินดังกล่าวเกิดจากการที่บริษัทผิดสัญญาในช่วงเวลาประมาณ ปี 2559 ไม่ชำระค่าสิทธิรายเดือน ค่าสิทธิรายปี ค่าปรับ และค่าเสียหายอื่นๆ อันเกิดขึ้นตามสัญญาระหว่างบริษัทกับกรุงเทพมหานคร และจะต้องชำระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
โดยคดีนี้ กทม. อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจากการสอบถาม กทม. ได้รับแจ้งว่าทาง กทม. และพนักงานอัยการมีความเห็นตรงกันว่าศาลปกครองกลางกำหนดจำนวนเงินที่บริษัทจะต้องชำระน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับทุนทรัพย์ที่ฟ้องร้องและเทียบกับความเสียหายที่ กทม. ได้รับจากการที่บริษัทผิดสัญญาซึ่งปัจจุบัน ศาลปกครองสูงสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะรับอุทธรณ์ของ กทม. หรือไม่ และในปัจจุบัน เนื่องจากบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ กทม. ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางได้ กทม. จึงอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดีกับบริษัท
– คดีหมายเลขดำที่ 989/2562 จำนวนทุนทรัพย์ที่ กทม. ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัท จำนวนประมาณ 243,035,225.38 บาท เนื่องจากบริษัทผิดสัญญาในปี 2561 ไม่ชำระค่าสิทธิรายเดือนคงค้าง ค่าปรับจากการใช้สิทธิ ค่าปรับจากการไม่ถอดถอนป้าย ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ซึ่งคดีนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
สรุป หากรวมจำนวนเงินที่บริษัทจะต้องชำระให้แก่ กทม. ทั้ง 2 คดีข้างต้น บริษัทอาจจะต้องชำระให้แก่ กทม. เป็นจำนวนเงินประมาณ 780 ล้านบาท
ในส่วนของลูกหนี้ของกลุ่มบริษัทนั้น สามารถแยกเป็นรายดังนี้
1. บริษัท จี.ไอ.เอส.พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด จำนวนหนี้ประมาณ 64,000,000 บาท บริษัทอยู่ระหว่างการบังคับคดี และไม่พบทรัพย์สินที่จะยึดและหรืออายัดเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทได้
2. บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์ กรุ๊ป จำนวนหนี้ประมาณ 60,000,000 บาท บริษัทอยู่ระหว่างการบังคับคดี และไม่พบทรัพย์สินที่จะยึดและหรืออายัดเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทได้
3. บริษัท เน็คท์คิวบ์จำกัด จำนวนหนี้ประมาณ 3,000,000 บาท บริษัทอยู่ระหว่างการบังคับคดี และไม่พบทรัพย์สินที่จะยึดและหรืออายัดเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทได้
4. บริษัท สมาร์ทเรลเทคโนโลยี จำกัด จำนวนหนี้ประมาณ 5,260,000 บาท บริษัทอยู่ระหว่างการบังคับคดี และไม่พบทรัพย์สินที่จะยึดและหรืออายัดเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทได้
5. บริษัท โภคาส เวิลด์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวนหนี้ประมาณ 1,143,450 บาท บริษัทอยู่ระหว่างการบังคับคดี
6. ผู้บริหารสูงสุดทางด้านบัญชีการเงินเดิม จำนวนหนี้ประมาณ 9,300,000 บาท (ในส่วนนี้ ศาลแพ่งเพิ่งมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้คืนให้แก่บริษัท เนื่องจากผู้บริหารสูงสุดทางด้านบัญชีการเงินรายนี้ ได้ทำความตกลงประนีประนอมยอมความเพื่อลดยอดหนี้ที่บริษัทจะได้รับชำระในคดีกับบริษัท เน็คท์คิวบ์จำกัด โดยที่ไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัท) บริษัทอยู่ระหว่างการบังคับคดี และไม่พบทรัพย์สินที่จะยึดและหรืออายัดเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทได้
เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดของลูกหนี้ข้างต้น แม้ว่าจะรวมยอดเงินที่ลูกหนี้ค้างชำระแล้ว ยังไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ให้แก่ กทม. และจากการหารือกับทนายความเกี่ยวกับการบังคับคดีกับลูกหนี้ มีเพียงลูกหนี้รายบริษัท โภคาสเวิลด์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่บริษัทมีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้ ส่วนลูกหนี้รายที่ 1-4 บริษัทได้ดำเนินการสืบทรัพย์เพื่อบังคับคดีมาเป็นเวลาหลายปี ยังไม่พบทรัพย์สินที่จะยึดและหรืออายัดเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 65)
Tags: TSF, ทรีซิกตี้ไฟว์, หุ้นไทย