จากทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) สะท้อนได้จากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัญหา Supply Chain ที่หยุดชะงักในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และภาวะสงครามรัสเซียยูเครนที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ส่งผลให้เหล่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบในหลายมิติ ซึ่งหากผู้ประกอบการเรียนรู้และปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ได้ดี ก็เชื่อว่ายังมีทางรอดให้ธุรกิจกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของภาคธุรกิจ เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า สภาพเศรษฐกิจของโลกช่วงครึ่งหลังของปี 65 มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้การจับจ่ายใช้สอยหรือการค้าขายต่าง ๆ ชะลอตัวลง
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเร่งตัวของเงินเฟ้อ คือ ปัญหา Supply Chain ที่หยุดชะงักเป็นระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่สร้างปัญหากให้กับการผลิตสินค้าและการขนส่งทั่วโลก ขณะเดียวกันการเกิดภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็เป็นตัวกระตุ้นให้ราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยทั้งสองนี้นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องใช้นโยบายการเงิน อย่างการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอภาวะเงินเฟ้อ แลกกับการยอมให้ภาวะการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวลง เพราะหากปล่อยให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจ
“การปรับขึ้นดอกเบี้ยตามทฤษฎีและหลักเศรษฐศาสตร์ คือเพื่อลดกำลังซื้อ ช่วยให้เงินเฟ้อลดลงมา แต่อีกแง่ก็คือจะไปเพิ่มต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุน แต่ถ้าเราปล่อยให้ภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นต่อเนื่อง ก็จะไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนทั่วไปยังมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำอยู่ ผลกระทบนี้ ถ้าเป็นผู้มีรายได้ตั้งแต่ปานกลางถึงน้อย ก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่ผู้มีรายได้ข้างบนเองอาจจะไม่ได้รู้สึกว่ากระทบมากนัก ในแง่ของการใช้ชีวิตทั่วไป”
นายสมศักดิ์ กล่าว
แม้ปัญหาด้าน Supply Chain ในปีนี้จะมีแนวโน้มที่ดีกว่าปีก่อน สะท้อนได้จากการขนส่งสินค้าที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่ยังต้องจับตามองคือนโยบายการเปิดประเทศของจีน ที่จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและความต้องการด้านระบบขนส่งมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีกครั้ง
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ยังคงกดดันเรื่อง Supply Chain อย่างต่อเนื่อง คือปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งยังคงสร้างความกังวลให้กับประชาชน แม้ในหลายประเทศจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อาทิ ไทยเองแม้โควิด-19 ใกล้จะเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่ยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้น สร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต เช่น การจ้างงาน เป็นต้น
ซีอีโอของ APM กล่าวว่า ทางรอดสำหรับผู้ประกอบการในยุคเศรษฐกิจถดถอยนี้ คือการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการลงทุนหรือการขยายกิจการต่าง ๆ อาจจะต้องชะลอแผนการไปก่อนในช่วงที่มีภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวและมีความไม่แน่นอนสูง ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับกระแสเงินสด เพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจให้บริษัทเกิดความมั่นคงที่จะฝ่าภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ไปได้
“แน่นอนว่าการที่จะไปเพิ่มรายได้คงทำได้ยาก เพราะติดตรงกำลังซื้อ ด้านภาคการผลิตและบริการในหลาย ๆ ประเทศก็เริ่มลดการจ้างงานลง ยิ่งเห็นชัดเลยว่าผู้ประกอบการเริ่มคิดจะบริหารต้นทุน ค่าใช้จ่าย หรือ Down Size กิจการลงมา รวมถึงจัดการสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น รถยนต์ อาคาร ต้องบอกว่าเมื่อผู้ประกอบการไม่ได้คิดเรื่องการเติบโต คิดเรื่องการประคับประคองธุรกิจ แน่นอนว่ามันต้องลดภาระต่าง ๆ ลงไป”
นายสมศักดิ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ในจังหวะนี้ ผู้ประกอบการหลายรายอาจใช้เป็นโอกาสการลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อเรียนรู้และนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจ ยกตัวอย่าง การลงทุนเทคโนโลยีเพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพและการบริหารต้นทุนให้ดีกว่าเดิมได้
นอกจากนั้น สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีเงินทุนมากนัก อาจต้องควบคุมต้นทุนและบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อประคับประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ แต่สำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเรื่องเงินทุน มีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง สามารถมองวิกฤตินี้เป็นโอกาสในการขยับขยายธุรกิจของตัวเองให้เติบโต รองรับกับเศรษฐกิจที่จะฟื้นคืนมาในอนาคตข้างหน้า
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา ต้องบอกว่าทุกวิกฤติจะเป็นโอกาสของคนมีเงิน และเป็นโอกาสของคนที่พร้อมในการลงทุน เพื่อรอรับโอกาสกลับมาเทิร์นอะราวด์ เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเราก็จะมีความพร้อมฟื้นได้เร็วกว่าคนอื่น
“ตอนนี้ในวงการ Financial Advisor (FA) จะเห็นดีลซื้อขายกิจการมากขึ้น ซึ่งเป็นปกติในทุกวิกฤติเศรษฐกิจที่จะมีธุรกิจล้มตาย โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่มีการบริหารจัดการเรื่องความยั่งยืน เพราะฉะนั้นถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ที่มีความพร้อมเรื่องเงินทุน จะใช้โอกาสนี้เข้าไปลงทุนในกิจการที่ประสบปัญหาเพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจในอนาคต”
นายสมศักดิ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 65)
Tags: Recession, SCOOP, เศรษฐกิจถดถอย, เศรษฐกิจโลก