นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ยืนยันว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเป็นรายที่ 3 ผู้ป่วยเป็นเพศชายชาวเยอรมัน เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผลตรวจยืนยันจากห้องปฎิบัติการออกมาในช่วงเย็นวานนี้ (2 ส.ค.) ส่วนผู้สัมผัสรายอื่นอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค โดยจะมีการแถลงรายละเอียดในเวลา 13.30 น.
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคได้รายงานว่า พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิงรายที่ 3 ของประเทศไทย เป็นชายชาวเยอรมัน อายุ 25 ปี เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 65 เข้ามายัง จ.ภูเก็ต เพื่อท่องเที่ยว หลังจากนั้นไม่นานมีอาการเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง คือ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต มีตุ่มผื่นขึ้นที่อวัยวะเพศ ลำตัวและแขนขา จึงมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เบื้องต้นคาดว่าเป็นผู้ติดเชื้อนำเข้า คือ ติดเชื้อตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศแต่เพิ่งมาแสดงอาการ ทีมสอบสวนโรคในพื้นที่อยู่ระหว่างตรวจสอบไทม์ไลน์เพื่อติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดและกลุ่มเสี่ยงต่อไป
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคที่มีอาการรุนแรงหรือติดต่อได้ง่าย จากการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วย 2 รายแรก เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้านที่อยู่ด้วยกันเป็นสัปดาห์ ยังไม่มีใครติดเชื้อ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีระบบคัดกรองที่ท่าอากาศยาน แต่โรคนี้มีระยะฟักตัวได้นาน ถึง 3 สัปดาห์ทำให้ช่วงเข้ามาในประเทศไทยยังไม่มีอาการ ดังนั้น หากเข้ามาแล้วมีอาการเข้าได้กับโรคขอให้รีบมาพบแพทย์
ส่วนวัคซีนป้องกันฝีดาษ องค์การเภสัชกรรมได้ประสานติดต่อเพื่อนำเข้ามาภายในเดือนส.ค. นี้ โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ประชุมหารือกำหนดกลุ่มเสี่ยงที่จะรับวัคซีนเบื้องต้น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่ม Pre Exposure หรือก่อนการสัมผัสเชื้อ จะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และ 2. กลุ่ม Post Exposure หรือผู้สัมผัสผู้ป่วยไม่เกิน 14 วันหลังสัมผัสเชื้อครั้งสุดท้าย เชื่อว่าจะป้องกันได้ โดยคณะทำงานจะพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป
“โรคฝีดาษลิงสามารถหายเองได้ เช่น ผู้ป่วย 2 รายก่อนหน้านี้ก็อาการดีขึ้นโดยไม่ต้องกินยาต้านไวรัสจึงไม่จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสทุกราย ยกเว้นผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี อาจจำเป็นสำหรับการรักษา ปัจจุบันทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2 หมื่นกว่าราย ในจำนวนนี้ต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 9% เพื่อการควบคุมโรค และมีผู้เสียชีวิต 6 ราย ซึ่งพบว่ามีโรคร่วมทำให้อาการรุนแรง เช่น มีภาวะสมองอักเสบ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง” นพ.โอภาส กล่าว
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติวินิจฉัย การดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อ กรณีโรคฝีดาษลิง ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 65 โดยเสนอต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (อีโอซี) กรณีโรคฝีดาษลิง เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 65 และได้ปรับปรุงตามข้อเสนอแนะและประกาศแนวทางอย่างเป็นทางการแล้ว โดยเบื้องต้นถ้ามีผู้ป่วยสงสัยให้รับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยและควบคุมโรค ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่าสามารถตรวจและรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง และย้ำว่าโรคนี้หายเองได้ ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัสทุกราย
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้กำชับให้ตรวจเฝ้าระวังคัดกรอง ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทั้งสนามบิน ทางน้ำ และทางบก รวมถึงในสถานพยาบาลให้เตรียมความพร้อมเรื่องการรักษา พร้อมสื่อสารอยู่เสมอว่าผู้ที่มีอาการสงสัยขอให้รีบมาพบแพทย์
ส่วนเรื่องวัคซีนและยานั้น ได้มีการเตรียมสั่งซื้อเข้ามา แต่ในกรณีของวัคซีนคงไม่จำเป็นต้องฉีดให้ทุกคน ซึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีนจะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง และผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยเท่านั้น
“โรคนี้ ไม่ใช่โรคที่ติดต่อง่าย แต่ต้องสัมผัสใกล้ชิด พฤติกรรมเสี่ยงคือ การมีเพศสัมพันธ์ สำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตโดยปกติทั่วไป จะไม่มีปัญหา แต่ขอให้ช่วยกันระวัง หากพบคนรอบข้างมีตุ่มหนอง ผื่นขึ้น อย่าสัมผัส และควรแนะนำให้รีบไปพบแพทย์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 65)
Tags: lifestyle, monkeypox, กรมการแพทย์, กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล, ฝีดาษลิง, สมศักดิ์ อรรฆศิลป์, โอภาส การย์กวินพงศ์