นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “บสย. BEYOND BORDERS ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด” สู่ภาพลักษณ์ใหม่ บสย. กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในทุกภาคส่วน ทั้งในด้านการบริโภคภายในประเทศ และภาคการต่างประเทศที่ชะลอตัวลง กระทรวงการคลังได้ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ และได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยเชื่อว่าตั้งแต่ช่วงปีนี้ไป จะเป็นช่วงของเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่การเติบโตที่ยังยืน จากที่ในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ เป็นช่วงที่เร่งแก้ปัญหาและฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด
“2 ปีที่ผ่านมา เรามุ่งแก้ปัญหาและฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ต่อจากนี้ไป เป็นช่วงที่จะมุ่งสู่การเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นจังหวะเดียวกับที่ บสย. ได้ปฏิรูปโครงสร้างการทำงาน และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในการช่วยเหลือ SMEs อย่างต่อเนื่อง” นายอาคม กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งถือว่าเป็น Engine of economic growth ที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 34% ของ GDP นั้น กระทรวงการคลังก็ได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนในการประคับประคองธุรกิจ รักษาการจ้างงาน รวมถึงเป็นเงินลงทุน เพื่อฟื้นฟู และดำเนินธุรกิจต่อไปได้
โดยรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านมาตรการด้านการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านสินเชื่อต่ำ เพื่อลดต้นทุนในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึง และมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาอยู่ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
รมว.คลัง มองว่า บสย.จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาตลาดทุนของประเทศไทย เพื่อเชื่อมต่อผู้ประกอบการ SMEs และแหล่งออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งด้านความรู้การเงินและด้านเทคโนโลยี และการดำเนินการให้สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งเน้น Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Model
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ติดตามผลการดำเนินงานของมาตรการด้านการเงินต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพิจารณาข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรคของการดำเนินมาตรการ รวมไปถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด เพื่อปรับปรุงและออกมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สามารถดูแลผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที
“การ Rebranding องค์กรของ บสย. ในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับพัฒนาองค์กร เพื่อปรับภาพลักษณ์ของ บสย. ให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความก้าวหน้าอย่างมีระบบ มีบทบาทที่ชัดเจนขึ้น และเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ส่งเสริมภารกิจหลักของ บสย. ในการสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ควบคู่ไปกับการเป็นองค์กรที่พร้อมจะให้บริการความรู้ทางการเงิน และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” นายอาคม กล่าว
ด้านนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย. พร้อมขับเคลื่อนองค์กรในทศวรรษใหม่ ด้วย Digital Technology ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ในสังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งตลอดระยะเวลา 30 ปี ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน มียอดค้ำประกันสินเชื่อสะสมมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อมากกว่า 740,000 ราย รักษาการจ้างงานมากกว่า 11 ล้านอัตรา สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า 5.7 ล้านล้านบาท
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2564 บสย. ได้ช่วยค้ำประกันสินเชื่อ มากกว่า 220,000 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง Micro ประมาณ 73% แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs อีกมาก และกลุ่มเปราะบาง ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน อีกกว่า 3 ล้านราย ขณะที่ผลดำเนินงานของ บสย. ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 92,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อกว่า 68,000 ราย
นายสิทธิกร ระบุว่า “บสย. BEYOND BORDERS ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด” คือ หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ลดความเหลื่อมล้ำ ตามแนวทางการพัฒนาความยั่งยืน บสย. ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ยกระดับการบริการค้ำประกันสินเชื่อ ด้วยนวัตกรรม Digital Technology เชื่อมโยงและพร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไม่มีที่สิ้นสุด มีความร่วมสมัยในยุคดิจิทัล ภายใต้ 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ
1.สร้างภาพจำให้ชัดขึ้น ใน 2 บทบาทหลัก คือ 1.1 บทบาทการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs มุ่งสู่ Digital Credit Enhancer ในการให้บริการและการดูแลลูกค้า SMEs รวดเร็ว รอบคอบ ใช้ Digital Technology เป็นเครื่องมือส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสินเชื่อ และลดการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มไมโคร ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เข้าถึงสินเชื่อด้วยหนังสือค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ใช้แทนหลักทรัพย์การยื่นกู้กับสถาบันการเงิน ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้าน เครดิต (Credit Cost) 1.2 บทบาทการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน F.A. Center (Financial Advisor) ให้ความรู้ทางการเงิน
2.ภาพลักษณ์ใหม่ ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีหลาย Generation ได้เข้าใจบทบาท และเข้าถึง บสย. ง่ายขึ้น ทั้งกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ หรือ ผู้สูงวัยที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ผ่านการเชื่อมโยงในระบบนิเวศน์ Eco-System ที่มีหลากหลายรูปแบบ
3.ตอบโจทย์กระแส Digital Disruptions ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด สู่ทศวรรษใหม่ บสย. สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่จากภายในสู่ภายนอก โดยใช้ Digital เป็นตัวขับเคลื่อน และผลักดัน บสย. เข้าสู่ระบบ Digital Eco-System เชื่อมโยงผู้ประกอบการ SMEs สู่ Platform online ทั้งการบริหารทางการเงิน Digital Lending และค้าขายออนไลน์ผ่าน E-Market Place
“ภาพลักษณ์ใหม่ บสย. ยังยึดตามแนวทางการพัฒนาความยั่งยืน เพิ่มจำนวนการช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และการสนับสนุนการสร้างคุณค่าทางสังคม ช่วยผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มที่มีโอกาสน้อย เช่น Micro SMEs ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้มีโอกาสสร้างงานสร้างอาชีพ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ การให้ความรู้ทางการเงิน และการเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงิน” นายสิทธิกร ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ส.ค. 65)
Tags: บสย., อาคม เติมพิทยาไพสิฐ