PPPGC ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 342.8 ล้านหุ้น-เข้า SET ใช้ขยายห่วงโซ่ธุรกิจปาล์มน้ำมัน

นายธนิก ธราวิศิษฏ์ ตำแหน่ง First Executive Vice President, Investment Banking and Capital Markets Function ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) บมจ.พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ (PPPGC) เปิดเผยว่า PPPGC ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อประกอบการยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก ( IPO) จำนวนไม่เกิน 342.8 ล้านหุ้น คิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 2 บาทต่อหุ้น โดยมี บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น IPO

การยื่นไฟลิ่งในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแสดงความพร้อมเพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความน่าเชื่อถือต่อคู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และสถาบันการเงินมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและการขยายโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ ช่วยให้บริษัทเติบโตได้ตามเป้าหมาย ตลอดจนสร้างความมั่นคงให้ยั่งยืนกับองค์กรในระยะยาวอีกด้วย

PPPGC เกิดจากการร่วมทุนระหว่างกลุ่มผู้นำธุรกิจน้ำมันปาล์มและน้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ของประเทศไทย 3 บริษัทตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเข้าด้วยกัน ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท ทีซีจีโฮลดิ้ง จำกัด (TCG) ที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปีในการผลิตและสกัดน้ำมันปาล์มดิบ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) และบริษัท อาร์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด (RD) ที่มีประสบการณ์กว่า 15 ปีในการเพาะกล้าปาล์มน้ำมันรายใหญ่ในอุตสาหกรรมการปลูกปาล์ม

ทั้งนี้ PPPGC ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันซึ่งประกอบไปด้วย น้ำมันไบโอดีเซล (B 100) น้ำมันปาล์มโอเลอิน ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคัล เช่น กลีเซอรีนบริสุทธิ์ และผลิตภัณฑ์พลอยได้อื่นๆโดยโรงงานของบริษัทเป็นโครงการในรูปแบบปาล์มครบวงจรที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย หรือ ปาล์มคอมเพล็กซ์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันบนเนื้อที่ 1,000 ไร่ ของอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ด้านนายชัยทัศน์ วันชัย กรรมการผู้จัดการ PPPGC กล่าวว่า โครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ เริ่มก่อสร้างในปี 2558 และดำเนินการผลิตอย่างเต็มรูปแบบในปี 62 ภายใต้แนวคิด Smart Complex โดยนำทุกอุตสาหกรรมในห่วงโซ่ของปาล์มน้ำมันมารวบรวมไว้ในแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศ พร้อมวางแผนระบบโลจิสติกส์ที่เอื้อต่อการขนส่งและการส่งออกไปต่างประเทศ รวมถึงการนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูงมาใช้ในการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้รับการรับรองภายใต้ระบบมาตรฐานสากล

ภาพรวมผลประกอบการในปี 62-64 บริษัทมีรายได้รวม 960.7 ล้านบาท 6,435.3 ล้านบาท และ 8,833.8 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 1/65 บริษัทมีรายได้รวม 2,794.7 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันไบโอดีเซล (B100) น้ำมันปาล์มโอเลอิน ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคัล เช่น กลีเซอรีนบริสุทธิ์และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

นายชัยทัศน์ กล่าวว่า การเตรียมบริษัทเข้าจดทะเบียนใน SET นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจของบริษัทให้มีความแข็งแกร่ง เพิ่มโอกาสในการเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงในอนาคต โดยธุรกิจหลักของบริษัทจะเติบโตไปกับเศรษฐกิจของประเทศ แผน AEDP และแผนของ PTG ซึ่งนโยบายและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐได้มีการกำหนดเป้าหมายปริมาณการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี อีกทั้งแผน PTG มีเป้าหมายในการรักษาส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจน้ำมันได้อย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งที่อันดับ 2 ในประเทศ

PPPGC จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ ไปใช้เพื่อการขยายห่วงโซ่ธุรกิจปาล์มน้ำมันไปยังธุรกิจโอเลโอเคมีคัล ขยายโครงการกำลังการผลิต และการบรรจุน้ำมันปาล์มโอเลอินเพื่อเพิ่มศักยภาพการเป็นผู้นำในธุรกิจปาล์มน้ำมันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยบริษัทมีเป้าหมายในการเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายน้ำมันปาล์มโอเลอินอันดับหนึ่งในประเทศ

นอกจากนั้น จะนำเงินส่วนหนึ่งราว 491 ล้านบาทไปใช้คืนเงินกู้ยืมระยะยาว อนึ่ง ณ วันที่ 25 ก.ค.565 ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทฯ ในการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้  ได้ให้วงเงินสินเชื่อระยะสั้น 1,610 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อระยะยาว 980 ล้านบาท วงเงินกู้เพื่อการออกหนังสือค้ำประกัน 10 ล้านบาท และวงเงินอนุพันธ์ 1,627 ล้านบาท ทั้งนี้ สัญญากู้เงินระบุเงื่อนไขให้บริษัทต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมระยะยาวภายใต้สัญญาภายใน 30 วันนับจากวันที่ผู้กู้ได้เสนอขายหุ้น IPO แล้วเสร็จ ส่วนเงินที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ปัจจุบันบริษัท มีกลุ่มลูกค้าน้ำมันปาล์มโอเลอินอยู่ 3 ประเภท 1) กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม 2) กลุ่มลูกค้าที่นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปบรรจุใหม่ (Repack) และ 3) ผลิตภัณฑ์ของบริษัทภายใต้ตราสินค้า “มีสุข” โดยในช่วงแรก บริษัทขายน้ำมัน “มีสุข” ผ่านตัวแทนจำหน่าย (ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว) ทั่วประเทศ ต่อมา บริษัทได้ทำการตลาดเพิ่มเติมโดยร่วมมือกับ PTG เพื่อที่จะเข้าถึงช่องทางจัดจำหน่ายอย่างกว้างขวาง โดย PTG มีช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านสถานีบริการถึง 2,181 แห่งทั่วประเทศ มีร้านค้า Max Mart จำนวน 277 สาขา และยังมีการจำหน่ายผ่าน ATLAS, บริษัทย่อยของ PTG ซึ่งบริการแก่ร้านอาหาร และภัตตาคารและกลุ่มลูกค้าผู้ใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือนเป็นหลัก ทั้งนี้บริษัทมีฝ่ายขายและการตลาดที่มีประสบการณ์ที่จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์เข้าถึงทุกจังหวัดทั่วประเทศ และมีแผนในการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายโดยผ่านโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ส.ค. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top