ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 315.50 จุด ผลประกอบการสดใสหนุนตลาด

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (29 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ผลประกอบการที่สดใสของบริษัทแอปเปิลและบริษัทแอมะซอน.คอม ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปรับตัวขึ้นรายเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,845.13 จุด เพิ่มขึ้น 315.50 จุด หรือ +0.97%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,130.29 จุด เพิ่มขึ้น 57.86 จุด หรือ +1.42%
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,390.69 จุด เพิ่มขึ้น 228.09 จุด หรือ +1.88%

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 3%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 4.3% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 4.7% และทั้งเดือนก.ค. ดัชนีดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 6.7%, ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น 9.1% และดัชนี Nasdaq บวก 12.4% โดยดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 พุ่งขึ้นรายเดือนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563 และดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563

หุ้นทุกกลุ่มในดัชนี S&P500 ปิดบวกในวันศุกร์ โดยกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นมากที่สุด 4.5% ขณะที่หุ้นเชฟรอน คอร์ป ทะยานขึ้น 8.9% และหุ้นเอ็กซอน โมบิล พุ่งขึ้น 4.6% หลังจากทั้งสองบริษัทเปิดเผยรายได้รายไตรมาสสูงเป็นประวัติการณ์

ตลาดได้แรงหนุนจากการที่บริษัทสหรัฐส่วนใหญ่รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ที่แข็งแกร่งเกินคาด โดยบริษัท 279 แห่งในดัชนี S&P500 รายงานผลประกอบการออกมาแล้ว ซึ่ง 77.8% มีผลประกอบการสูงเกินคาด

หุ้นแอปเปิล พุ่งขึ้น 3.3% หลังเปิดเผยว่าปัญหาด้านการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตโทรศัพท์กำลังบรรเทาลง และยังคงมีความต้องการไอโฟนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หุ้นแอมะซอน.คอม พุ่งขึ้น 10.4% หลังคาดการณ์รายได้ไตรมาส 3 พุ่งขึ้นจากค่าธรรมเนียมสมาชิกไพรม์ซึ่งเป็นรายการวิดีโอสตรีมมิ่ง

แต่หุ้นอินเทลร่วงลง 8.6% สวนทางตลาด หลังบริษัทปรับลดคาดการณ์ยอดขายและผลกำไรรายปี และเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 2 ต่ำกว่าคาด

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐยังทะยานขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยได้แรงหนุนจากการที่บรรดานักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงอย่างที่วิตกกัน

สำหรับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันศุกร์ได้แก่ มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.5 ในเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.5 จุดจากเดือนมิ.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 51.1 โดยผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องปัจจัยในต่างประเทศลดลง

ส่วนกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนมิ.ย. ทำสถิติเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 40 ปีนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2525 และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PCE ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2524 ส่วนดัชนี PCE พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบรายปี และเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top