ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (1-5 ส.ค.) ที่ระดับ 36.00-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของไทย ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.ค. ยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางออสเตรเลีย รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.ค. ของจีน อังกฤษ และยูโรโซนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เงินบาทแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ แต่ยังคงมีแรงกดดันด้านอ่อนค่า โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอกดดันเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงต่อมา ตามทิศทางค่าเงินหยวน แรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ของผู้นำเข้าในช่วงสิ้นเดือน และแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงก่อนการประชุมเฟด (ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง) และยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลัง IMF ปรับลดตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2565-2566 ลงมาที่ 3.2% และ 2.9% ตามลำดับ
โดยตลอดสัปดาห์ (25-27 ก.ค.) เงินบาทแกว่งตัวผันผวนอยู่ในกรอบประมาณ 36.62-36.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงระหว่างรอติดตามผลการประชุมเฟดเพื่อประเมินแนวโน้มและขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี
ในวันพุธที่ 27 ก.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.80 เทียบกับระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 ก.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 25-27 ก.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 4,376 ล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรไทย 1,921 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ค. 65)
Tags: KBANK, ค่าเงินบาท, ธนาคารกสิกรไทย, เงินบาท