น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวม 11 ฉบับ ซึ่งจะมีการรับรองร่างเอกสารในการประชุมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 5 สิงหาคม 2565 โดยประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ
ทั้งนี้ การประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 23 การประชุมรัฐมนตรี ต่างประเทศของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 12 และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum : ARF) ครั้งที่ 29
สำหรับสาระสำคัญของร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 11 ฉบับ มีดังนี้
1. ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่จะสานต่อความร่วมมือในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในประเด็น เช่น การบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงในภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือกับคู่เจรจาและหุ้นส่วนต่างๆ ของอาเซียน
2. ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน – สหราชอาณาจักร ค.ศ.2022-2026 เป็นเอกสารที่ระบุมาตรการการส่งเสริมความร่วมมือใน 5 สาขาหลัก ที่อาเซียนและสหราชอาณาจักรจะดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ 1) การเมืองและความมั่นคง 2) เศรษฐกิจ 3) สังคมและวัฒนธรรม 4) ความร่วมมือข้ามสาขา อาทิ ความเชื่อมโยง และการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 5) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียน โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2565- 2569)
3. ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ อาเซียน-สหภาพยุโรป ค.ศ. 2023-2027 จัดทำขึ้นเพื่อใช้แทนแผนฉบับปัจจุบันที่จะหมดอายุสิ้นปี 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในมิติต่าง ๆ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยเพิ่มเติมประเด็นสำคัญ อาทิ 1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่บทบาทสตรีสำหรับสันติภาพและความมั่นคงที่ยั่งยืน 2) ความร่วมมือระหว่างองค์กรของอาเซียนและอียู 3) ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา
4. ร่างภาคผนวก เอ – ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน – ออสเตรเลีย เป็นเอกสารที่ระบุความร่วมมือเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนสถานะความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership: CPS) โดยมีความร่วมมือเพิ่มเติมภายใต้ 3 เสาของอาเซียน อาทิ การส่งเสริมการฟื้นฟูสีเขียว (green recovery) พลังงานสะอาด ความมั่นคงทางสุขภาพ
5. ร่างภาคผนวกของแผนปฏิบัติการอาเซียน – จีน ค.ศ.2021-2025 : ขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับจีน เป็นเอกสารที่ระบุความร่วมมือเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนสถานะความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ 2)หุ้นส่วนเพื่อความมั่นคง 3)หุ้นส่วนเพื่อความรุ่งเรือง 4)หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 5)หุ้นส่วนเพื่อมิตรภาพ
6. ร่างแผนงานความร่วมมืออาเซียนบวกสาม ค.ศ. 2023-2027 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือในมิติต่างๆ ระยะ 5 ปีข้างหน้า รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถของภูมิภาคในการรับมือกับประเด็นท้าทายในอนาคต โดยมีประเด็นเพิ่มเติม อาทิ 1)การสนับสนุนแผนฟื้นฟูเพื่อการท่องเที่ยวอาเซียน 2)การมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ 3)การพัฒนาขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย
7. ร่างแผนปฏิบัติการการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ค.ศ.2023-2027 จัดทำขึ้นเพื่อทดแทนแผนปฏิบัติการมะนิลาเพื่อต่อยอดการดำเนินการตามปฏิญญากรุงพนมเปญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและครอบคลุมความร่วมมือ 9 สาขา ได้แก่ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน การศึกษา การคลัง สาธารณสุขระดับโลกและโรคระบาด การบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความเชื่อมโยง เศรษฐกิจและการค้า ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร และความร่วมมือทางทะเล
8. ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างการดำเนินการตามสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค.ศ.2023-2027 เป็นเอกสารที่ระบุกรอบการดำเนินงานสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
9. ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งผ่านการทูตเชิงป้องกัน เป็นเอกสารที่ส่งเสริมความร่วมมือในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่งคั่งในภูมิภาค โดยอาศัยมาตรการด้านการทูตเชิงป้องกัน
10. ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เพื่อสนับสนุนการธำรงไว้ซึ่งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเอกสารที่แสดงถึงการยึดมั่นต่อเจตนารมณ์ในการธำรงไว้ซึ่งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยย้ำถึงความพยายามในการส่งเสริมการลดอาวุธนิวเคลียร์ การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ รวมทั้งเรียกร้องให้ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มีความรับผิดชอบ และไม่ใช้หรือข่มขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์
11. ร่างแผนงานของการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) ว่าด้วยความมั่นคงทางทะเล ค.ศ.2022-2026 เป็นเอกสารที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือและการประสานงานระหว่างผู้เข้าร่วม ARF อย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรมในประเด็นด้านความมั่นคงทางทะเล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 65)
Tags: กัมพูชา, ประชุมอาเซียน, รัชดา ธนาดิเรก, อาเซียน