พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติอนุมัติโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ให้ใช้จ่าย 800 บาท/คน เริ่มใช้ได้ตั้งแต่ 1 ก.ย.-31 ต.ค.นี้ โดยสามารถใช้จ่ายได้ไม่เกินวันละ 150 บาท ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชนแล้ว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน โดยจะมีการเติมเงินให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผู้ที่ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน และผู้มีภาวะพึ่งพิงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นระยะเวลา 2 เดือน จำนวน 200 บาท/คน/เดือน รวมเป็น 400 บาท ตั้งแต่เดือน ก.ย. – ต.ค.65
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. ได้อนุมัติโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 กรอบวงเงิน รวม 21,200 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวนไม่เกิน 26.5 ล้านคน โดยให้ประชาชนใช้สิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.- 31 ต.ค.65
รูปแบบการดำเนินการ คือ ภาครัฐ จะร่วมชำระค่าอาหารเครื่องดื่ม สินค้า และบริการทั่วไป และบริการขนส่งสาธารณะ ที่กำหนดในอัตรา 50% แต่ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน หรือไม่เกิน 800 บาทต่อคน สำหรับคุณสมบัติ ต้องเป็นประชาชนสัญชาติไทยอายุ 18 ปี ขึ้นไป มีบัตรประชาชน ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือไม่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ต้องการช่วยเหลือพิเศษ
สำหรับประชาชนผู้ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ต้องยืนยันสิทธิเข้าร่วมโครงการ คนละครึ่ง เฟส 5 และใช้สิทธิครั้งแรก ภายในวันที่ 14 ก.ย. หรือระยะเวลาที่กระทรวงคลังกำหนด สำหรับประชาชนทั่วไป จะต้องใช้สิทธิ โครงการฯ เฟส 5 ครั้งแรกภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อความผ่าน แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” หรือข้อความสั้น (SMS) แจ้งยืนยันสิทธิ หรือระยะเวลาที่กระทรวงคลังกำหนด
สิทธิประโยชน์ ภาครัฐจะร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้า และบริการที่กำหนด ในอัตรา 50% ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน หรือไม่เกิน 800 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการฯ โดยผู้ได้รับสิทธิสามารถซื้ออาหาร เครื่องดื่ม จากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านผู้ให้บริการระบบขนส่งอาหาร (Food Delivery Platform) ที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนเงินในส่วนค่าอาหารและ/หรือเครื่องดื่มเท่านั้น ไม่รวมค่าจัดส่งหรือค่าใช้จ่ายอื่น ซึ่งประชาชนที่ได้รับสิทธิ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุนที่ภาครัฐร่วมจ่ายตามโครงการดังกล่าวนี้ด้วย
ประเภทสินค้าและบริการ อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป บริการนวด สปา ทำเล็บ ทำผม และบริการขนส่งสาธารณะ โดยไม่รวมสินค้าสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ บัตรกำนัลบัตรเงินสด และบริการรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นการชำระค่าสินค้าหรือ บริการล่วงหน้า ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้สามารถกำหนดเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าและบริการของโครงการฯ ได้
ผู้ประกอบการ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
-ผู้ประกอบการร้านค้าสัญชาติไทย ที่เป็นร้านอาหาร /เครื่องดื่ม/ร้านค้าทั่วไป ไม่ใช่นิติบุคคล หรือร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง หรือวิสาหกิจชุมชน หรือ ร้านธงฟ้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ จะต้องไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์
-ผู้ประกอบการบริการสัญชาติไทยที่ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่เป็นผู้ประกอบการบริการของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง หรือวิสาหกิจชุมชน หรือเป็นผู้ให้บริการประเภทรถที่ตรวจสอบได้ เช่น รถสามล้อถีบ เป็นต้น
-ผู้ประกอบการประเภทบริการด้านขนส่งสาธารณะสัญชาติไทย ที่ไม่ใช่นิติบุคคล เช่น แท็กซี่ รถสามล้อ รถสองแถวรับจ้าง รถจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งผู้ขับขี่ต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย
-ผู้ประกอบการประเภทบริการด้านขนส่งสาธารณะ ได้แก่ รถไฟฟ้าในเขตเมือง รถไฟ รถโดยสารประจำทางสาธารณะและเรือโดยสารสาธารณะ
ครม.มอบหมายให้กระทรวงการคลังสื่อสารและประชาสัมพันธ์โครงการฯ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจนถึงความเหมาะสมและความจำเป็นที่ภาครัฐสนับสนุนวงเงินรวมชำระไม่เกิน 800 บาทต่อคน โดยมีแผนการเริ่มดำเนินโครงการฯ รับสมัครประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้าและบริการผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม และประชาชนจะได้รับสิทธิวงเงินสนับสนุนและใช้สิทธิโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการฯ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานรากอย่างต่อเนื่อง เพิ่มอุปสงค์ในการบริโภค กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยทุกระดับมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ เกิดการลงทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้กับประชาชนในสถานการณ์ที่ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น คาดว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มเติม 42,400 ล้านบาท GDP ขยายตัวร้อยละ 0.12 เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ
พร้อมกันนั้น ครม.ยังอนุมัติโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 วงเงิน 5,336.8304 ล้านบาท และ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษระยะที่ 3 กรอบวงเงิน 890.8816 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 จำนวน 200 บาท/คน ในระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-31 ต.ค.65 รวมทั้งสิ้น 400 บาทต่อคน เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในภาวะวิกฤตในภาวะเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าและค่าครองชีพปรับสูงขึ้นนี้
ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินการโครงการฯ จะเป็นการเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและร้านค้าหรือผู้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 จำนวน 200 บาทต่อคนเป็นระยะเวลา 2 เดือนรวมทั้งสิ้น 400 บาทต่อคน โดยมีกลุ่มเป้าหมายในโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 จำนวนไม่เกิน 13,342,076 คน (ข้อมูล ณ 1 มิ.ย. 65) และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษระยะที่ 3 จำนวนไม่เกิน 2,227,204 คน (ข้อมูล ณ 1 เม.ย.65)
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จะได้มีการปรับปรุงฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายในโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 นี้ให้เป็นฐานข้อมูล ณ วันที่ 1 ส.ค.65 เพื่อให้จำนวนกลุ่มเป้าหมายของทั้ง 2 โครงการ สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบันให้มากที่สุดด้วย
กลุ่มเป้าหมายราว 15 ล้านคน จากทั้ง 2 โครงการ จะได้รับการช่วยเหลือ เยียวยา และลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าฯ และซื้อสินค้าหรือรับบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 นอกจากช่วยทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 65)
Tags: lifestyle, คนละครึ่ง, คนละครึ่งเฟส 5, ครม., ประชุมครม., ประยุทธ์ จันทร์โอชา, มติคณะรัฐมนตรี