ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมเดือนมิ.ย.ในวันนี้ระบุว่า กรรมการ BOJ มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ BOJ สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่า BOJ มีเป้าหมายที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ (Ultra-low interest rates) ต่อไป แม้มีสัญญาณบ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นก็ตาม
รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการบางคนจากทั้งหมด 9 คนของ BOJ มองว่า ตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเป็นวงกว้าง และกำลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมุมมองของสาธารณชนที่เคยมองว่า เงินเฟ้อและค่าแรงจะไม่ปรับตัวขึ้นมากนักในอนาคต
อย่างไรก็ดี กรรมการ BOJ มีความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้วยนโยบายการเงินขนานใหญ่ เพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และภาวะติดขัดด้านอุปทานซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์คุมโควิด-19 ในประเทศจีน
“กรรมการ BOJ เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนในระดับที่สูงมากเกินไป และกรรมการส่วนใหญ่ต่างก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับขึ้นค่าแรงว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ BOJ บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ” BOJ ระบุในรายงานการประชุม
ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultraeasy Monetary Policy) ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0% โดย BOJ ยังคงควบคุมเพดานของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไม่ให้สูงเกิน 0.25%
นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า BOJ จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ได้รับกระทบรุนแรงจากวิกฤตเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ แม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้น และเงินเยนอ่อนค่าลงซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้น ได้ผลักดันให้ตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นเหนือเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% แต่นายคุโรดะยังคงย้ำถึงความจำเป็นในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ จนกว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะถูกขับเคลื่อนโดยอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็อาจจะทำให้ BOJ ดำเนินนโยบายการเงินตามทิศทางธนาคารกลางทั่วโลกด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 65)
Tags: BOJ, ญี่ปุ่น, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, เศรษฐกิจญี่ปุ่น