IPOInsight: CHIC กางปีกสู่โลกดิจิทัลสร้างโอกาสเจาะตลาดต่างแดน

ที่อยู่อาศัยนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ประกอบกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น นำมาสู่การให้ความสำคัญกับการตกแต่งที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของ บมจ.ชิค รีพับบลิค (CHIC) ในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)

CHIC เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 360 ล้านหุ้น ที่ 0.90 บาท/หุ้น จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 26.47% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลังเสนอขาย IPO โดยจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ (Service) หมวดธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) ในวันที่ 27 ก.ค.65 มี บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ราคาหุ้น IPO ที่หุ้นละ 0.90 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 31.69 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.0284 บาทต่อหุ้น คำนวณจากกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64-31 มี.ค.65 ที่จำนวน 28.43 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ ก่อนการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ 1,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท (Pre-IPO Dilution)

และคิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 43.06 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.0209 บาทต่อหุ้น หากพิจารณากำไรสุทธิต่อหุ้นที่คำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ 1,360 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท (Post-IPO Dilution)

เปิดธุรกิจจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์แบบ One Stop Shopping

นายกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ CHIC เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทดำเนินธุรกิจจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ภายในบ้าน ที่นอนและเครื่องนอนมาเป็นระยะเวลากว่า 12 ปี ภายใต้ Business Model อย่าง One Stop Shopping ด้วยการสร้างโชว์รูมสินค้ารูปแบบ Stand Alone พื้นที่เฉลี่ยราว 8,000-12,000 ตารางเมตร/สาขา เพื่อรองรับการจำหน่ายสินค้าและบริการได้อย่างครบวงจร

“ย้อนกลับไปเมื่อ 12-15 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมียี่ห้อเฟอร์นิเจอร์ทางเลือกค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะตลาดระดับ B+ จนถึง A ประกอบกับในยุคนั้นธุรกิจในสหรัฐฯ ที่ได้รับความนิยมคือธุรกิจแบบ One Stop Shopping เราเห็นโอกาสนี้ก็เลยก่อตั้งเป็น ชิค รีพับบลิค ขึ้นมา ถือว่าเราเป็น First Home Fashion in Thailand”

นายกิจจา กล่าว

ปัจจุบัน CHIC มีอยู่ 5 สาขาในประเทศไทย ได้แก่ สาขาประดิษฐ์มนูธรรม, พัทยา, บางนา, ราชพฤกษ์ และรามอินทรา นอกจากนั้น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา CHIC ได้ขยายสาขาไปสู่กัมพูชา ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้า AEON Mall Sen Sok (อิออนมอลล์แสนสุข) ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่ดีที่สุดและใหญ่ที่สุดในกัมพูชา

บริษัทจำหน่ายสินค้าภายใต้ 3 แบรนด์หลักอย่าง 1) CHIC จับกลุ่มลูกค้าระดับบน ซึ่งมีดีไซน์ที่หลากหลายทั้ง Modern, Vintage และ Contemporary 2) RINA HEY จับตลาด Mass เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ค่อนข้างสูง และ 3) Ashley แบรนด์นำเข้าชื่อดังจากสหรัฐฯ จับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าแบบอเมริกันสไตล์

เจาะ Keysuccess พัฒนาหลายบริการตอบโจทย์ลูกค้า

นายกิจจา กล่าวว่า กุญแจความสำเร็จของ CHIC คือการที่บริษัทให้ความสำคัญไปยังการตกแต่งภายในโชว์รูมสินค้า โดยกำหนดนโยบายการออกสินค้าคอลเลคชั่นใหม่และต้องมีการจัดวางสินค้าใหม่ทุก 3-4 เดือน เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดแรงบันดาลใจในการตกแต่งบ้าน

ขณะเดียวกันบริษัทยังขยายช่องทางจำหน่ายไปสู่โลกออนไลน์ ทั้งการจัดทำเว็บไซต์, การเข้าร่วมกับ Marketplace ชั้นนำในประเทศอย่าง Shopee, Lazada หรือ Central Online และการเข้าถึงช่องทาง Social Media เช่น Line หรือ Instagram เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“เราพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ Digital Transformation อย่างการขายออนไลน์นี้ต้องบอกเลยว่าทำให้เรามีโอกาสขายสินค้าให้กับลูกค้าต่างจังหวัดมากขึ้น เพราะที่ต่างจังหวัดเราไม่มีสโตร์เลย แต่ตอนนี้ลูกค้าทั่วประเทศสามารถเข้ามาสั่งซื้อสินค้าของเราได้ ทำให้เราได้ลูกค้าต่าจังหวัดเพิ่มขึ้นมาจำนวนมาก และจาก Operating Cost ที่ต่ำทำให้การขายออนไลน์สร้างผลกำไรได้ดี”

นายกิจจากล่าว

และ CHIC ยังคงสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ทั้ง “Chic Rent In Style” ธุรกิจให้เช่าเฟอร์นิเจอร์ รองรับความต้องการของลูกค้าที่รับจัดงานอีเว้นท์ หรือบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจัดตกแต่งห้องตัวอย่างให้ลูกค้าได้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยทาง CHIC มีบริการขนส่ง ประกอบติดตั้งและจัดเก็บให้เรียบร้อย นับว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับการตอบสนองจากลูกค้าเป็นอย่างดี

รวมถึงธุรกิจ “Chic Design Studio” ให้บริการออกแบบและตกแต่งภายในแบบครบวงจร ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกิดมาจากความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อบริษัท และจากการเห็นโอกาสดังกล่าว จึงจัดตั้งทีมรับออกแบบและรับเหมาเทิร์นคีย์อย่างครบวงจรให้กับลูกค้า

“เราเชื่อว่าธุรกิจ Chic Design Studio จะสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดี เพราะส่วนมากจะเป็นลูกค้าที่มีบ้านขนาดใหญ่และมีงบประมาณในการตกแต่งบ้านสูง ซึ่งเขามองว่าบ้านคือสิ่งที่แสดงฐานะทางสังคม บ้านคือทรัพย์สินที่มีมูลค่าและเป็นสิ่งที่ครอบครัวใช้ร่วมกัน ดังนั้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก”

นายกิจจากล่าว

นอกจากการตอบโจทย์ลูกค้าด้านธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งแล้ว CHIC ยังอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในด้านอื่น ๆ ด้วยการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ร้านค้าที่น่าสนใจ เช่น ร้านอาหาร หรือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต เข้ามาเปิดให้บริการภายในพื้นที่แต่ละสาขาอีกด้วย

“การที่เราทำสโตร์ใหญ่เป็นหมื่นตารางเมตร แน่นอนว่าเราต้องใส่สิ่งอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้านั่นก็คือร้านอาหาร เมื่อป็นพาร์ทเนอร์กัน สิ่งที่ได้คือจำนวนลูกค้าและรายได้ค่าเช่า ที่สำคัญในตอนนี้มีร้านอาหาร หรือ Supermarket ติดต่อเรามาเข้ามามากขึ้น เพราะกังวลว่าถ้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า อาจจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากมาตรการภาครัฐอีกรอบหนึ่ง”

นายกิจจากล่าว

โตตามตลาดอสังหาฯ คาดรายได้ปี 65 กลับสู่ช่วงก่อนโควิด

นายกิจจา กล่าวอีกว่า CHIC ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต อีกทั้งโครงสร้างในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่ต้องการแยกที่อยู่อาศัยเพื่อเป็นอิสระมากขึ้น และเริ่มมองว่าการตกแต่งบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นธุรกิจของ CHIC จึงเป็นสิ่งที่ตอบสนองผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่สะท้อนการเติบโตของ CHIC คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากรายได้หลักของบริษัทราว 30% มาจากธุรกิจโครงการ ซึ่งบริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯชั้นนำที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เป็นลูกค้าของ CHIC เกือบทั้งหมด นับว่าเป็นความโชคดีที่เราเป็นผู้เติบโตตามธุรกิจตรงนี้

“จากการที่เราใกล้ชิดและพูดคุยกับลูกค้าอสังหาฯ พบว่าบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมราคาแพงถึงแพงมากยังขายดีอยู่ สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะเจอกับภาวะเงินเฟ้อ แต่กำลังซื้อของลูกค้าระดับบนยังคงดีอยู่ ซึ่งเราก็ได้รับประโยชน์ตรงนี้ เพราะเราจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านให้กับโครงการคอนโดมิเนียมเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยประมาณ 8 พันยูนิต/ปี ซึ่งก็นับว่าเป็นรายได้หลักของเราอีกทางหนึ่ง”

นายกิจจากล่าว

แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการจากภาครัฐที่สั่งปิดหน้าร้านในบางช่วง แต่ด้วยการเรียนรู้และปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ส่งผลให้ผลประกอบการในปี 63-64 ยังคงสร้างผลกำไรได้ และปัจจุบันที่โรคระบาดเริ่มคลี่คลายก็หนุนให้ผลประกอบการในไตรมาส 1/65 เติบโต ซึ่งทาง CHIC ประเมินว่า หากมีการเปิดประเทศไปจนถึงช่วงสิ้นปี คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะกลับไปใกล้เคียงกับช่วงปี 62 ได้

ระดมทุนขยายกิจการ-พัฒนาระบบ E-commerce

วัตถุประสงค์หลักของบริษัท จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปขยายสาขาที่จังหวัดอุดรธานี เนื่องจากอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงมีตลาดอสังหาฯที่เติบโตได้ดี ประกอบกับมีลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงจากฝั่งสปป.ลาวข้ามมาซื้อเฟอร์นิเจอร์ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และนอกจากจะเปิดเป็นโชว์รูมสินค้าในพื้นที่ด้านหน้าแล้ว จะใช้พื้นที่ข้างหลังก่อตั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าต่างจังหวัด

รวมไปถึงจะนำเงินที่ได้มาปรับปรุงสาขาที่มีอยู่เดิม คือสาขาราชพฤกษ์และบางนา ให้มีความทันสมัยมากขึ้น และปรับพื้นที่เพื่อรองรับพาร์ทเนอร์ร้านค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ได้มากขึ้น ส่งผลดีกับจำนวนผู้ใช้บริการและรายได้ค่าเช่าที่จะเพิ่มเข้ามา

ขณะเดียวกันบริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตของตลาดกัมพูชา จึงวางแผนลงทุนพัฒนาระบบ E-commerce และการขนส่งในประเทศกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือกับบริษัทขนส่งภายในประเทศกัมพูชา เพื่อวางแผนการขนส่งสินค้า

นอกจากนี้จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการและชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันทางการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องด้านการเงินให้กับบริษัท

“ธุรกิจเราเมื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แล้วก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้น ในอนาคตเราก็มองหาพาร์ทเนอร์ที่มาทำธุรกิจร่วมกัน อาจจะเป็นพันธมิตรที่มาสนับสนุนธุรกิจหลักของเรา หรือจะเป็นการขยายออกไปสู่ธุรกิจอื่น ที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุนก็ได้”

นายกิจจากล่าว

นายกิจจา ยังกล่าวอีกว่า ในอนาคตบริษัทต้องการพัฒนาด้าน Digital Transformation มากขึ้น เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เพราะฉะนั้น CHIC ก็จะต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ

“ผมชอบตรงที่เฟอร์นิเจอร์มันมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าผมทำธุรกิจที่เกี่ยวกับวัตถุดิบ มันก็มีแค่ดีมาน์-ซัพพลาย แต่การทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มันเป็นเรื่อง Creative เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ สร้าง Value Added ซึ่งการทำธุรกิจผมมองทั้ง Short-term และ Long-term เพราะฉะนั้นเราต้องมองต่อไปในอนาคต แล้วก็ปรับตัวเองไปสู่คำตอบให้กับลูกค้า “

นายกิจจา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top