นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในเดือน มิ.ย.65 ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปอยู่ที่ 73,887 คัน ลดลง 11% จากเดือน มิ.ย.64 โดยยังคงประสบปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนประกอบที่นำเข้ามาผลิต ขณะที่มูลค่าการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 64,016 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 9.94%
ในขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.65) อยู่ที่ 449,644 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.04% โดยมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 405,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.44%
ส่วนยอดการผลิตรถยนต์เดือนมิ.ย.65 อยู่ที่ 143,016 คัน เพิ่มขึ้น 6.53% จากเดือนมิ.ย.64 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อขายในประเทศถึง 20.69% มีสัดส่วน 50.35% ของยอดการผลิต ส่งผลให้ยอดการผลิตรถยนต์ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 870,109 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.02%
ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเดือน มิ.ย.65 มีจำนวนทั้งสิ้น 67,952 คัน เพิ่มขึ้น 4.6% จากเดือนมิ.ย.64 เป็นผลจากการคลายล็อกดาวน์ และการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกขึ้น การส่งออกที่เติบโตโดยเฉพาะสินค้าเกษตร การประกันรายได้เกษตรกร โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น ทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น
สำหรับยอดยานยนต์ไฟฟ้า ที่จดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ในเดือนมิ.ย.65 มีดังนี้
1. ยานยนต์ไฟฟ้า แบบแบตเตอรี่ (BEV) จดทะเบียนใหม่ จำนวน 1,623 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 229.21%
2. ยานยนต์ไฟฟ้า แบบผสม (HEV) จดทะเบียนใหม่ จำนวน 5,625 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 98.90%
3. ยานยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) จดทะเบียนใหม่ จำนวน 1,085 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 50%
ส่งผลให้ ณ วันที่ 30 มิ.ย.65 ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 284,613 คัน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1. ยานยนต์ไฟฟ้า BEV มีจำนวนทั้งสิ้น 18,644 คัน คิดเป็นสัดส่วน 6.55% 2. ยานยนต์ไฟฟ้า HEV มีจำนวนทั้งสิ้น 228,894 คัน คิดเป็นสัดส่วน 80.42% และ 3. ยานยนต์ไฟฟ้า PHEV มีจำนวนทั้งสิ้น 37,075 คัน คิดเป็นสัดส่วน 13.03%
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ ส.อ.ท. โดยกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์จะมีการประเมินเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปีนี้ใหม่ จากปัจจุบันที่ตั้งเป้าการผลิตในปีนี้ไว้ที่ 1.8 ล้านคัน เนื่องจากยังเผชิญปัญหาการขาดแคลนชิป และชิ้นส่วนการผลิตมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ายอดการผลิตในปีนี้อาจจะเหลือราว 1.7 ล้านคัน
“เดิมที่เราตั้งเป้าไว้ 1.8 ล้านคัน เพราะตอนนั้นยังไม่มีปัญหาเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่พอหลังเกิดสงคราม ก็ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิป ขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตมากขึ้น เพราะใน 2 ประเทศมีการส่งออกในห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จึงทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนหนัก รวมกับสถานการณ์ของจีนที่ล็อกดาวน์รอบใหม่ ทำให้ประเทศต่างๆ ในเดือนมิ.ย.ยอดขายลดลงมาก จากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน” นายสุรพงษ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า จากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนผลิตดังกล่าว นับเป็นปัจจัยเสี่ยงตัวหนึ่งที่ ส.อ.ท.จะต้องนำมาประเมินเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปีนี้อีกครั้ง ร่วมกับความกังวลปัญหาเงินเฟ้อสูง ที่ทำให้สถานการณ์ราคาสินค้าต่างๆ แพงขึ้น รวมทั้งประเด็นที่หลายองค์กรได้ปรับลด GDP ในปีนี้ ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาด้วยว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขาย และยอดส่งออกรถยนต์ด้วยหรือไม่เช่นกัน
โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ยังกล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการซื้อรถ BEV มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเฉพาะเดือนมิ.ย.นี้ มียอดจดทะเบียนใหม่ รถ BEV ประเภทไม่เกิน 7 ที่นั่ง มากถึงกว่า 800 คัน ซึ่งนอกจากจะได้ปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันแพงที่ทำให้คนสนใจหันมาใช้รถ EV แทนแล้ว ยังเป็นผลมาจากมาตรการสนับสนุนการใช้รถ EV จากภาครัฐที่ปรับลดภาษีสรรพสามิต และการปรับลดราคาจำหน่าย ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการรถ EV มีเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าทั้งปีนี้อาจจะมียอดขายรถ EV สูงถึง 1 หมื่นคัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ค. 65)
Tags: รถยนต์, ส.อ.ท., สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์, อุตสาหกรรมยานยนต์, เซมิคอนดักเตอร์