เงินบาทเปิด 36.67 แข็งค่า หลังดอลลาร์อ่อนค่า คาดกรอบวันนี้ 36.60-36.80

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 36.67 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 36.72 บาท/ดอลลาร์

เช้านี้เงินบาทแข็งค่าจากเย็นวันศุกร์ เนื่องจากเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ก.ค.) บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก จากตัวเลขข้อมูลภาคบริการออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ตลาดมองว่าถึงแม้รอบนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% แต่ตลาดไม่แน่ใจว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะขึ้นไปอีกเท่าไร เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มแผ่วลงอย่างชัดเจน ด้านภูมิภาคเช้านี้แข็งค่าเล็กน้อย

ในสัปดาห์นี้ต้องติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในคืนวันพุธ (27 ก.ค.) และข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2565 ของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (28 ก.ค.) ขณะที่ปัจจัยในประเทศ คือ กระทรวงพาณิชย์จะประกาศตัวเลขส่งออก-นำเข้าเดือนมิ.ย.

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.60-36.80 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (22 ก.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.52489% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.77668%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 136.34 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 137.34 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0195 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0157 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 36.840 บาท/ดอลลาร์
  • กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในหัวข้อ “Economic Turbulence 2022 เศรษฐกิจ วิกฤตซ้อนวิกฤตต้องรับมืออย่างไร” ว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจนอีก 1-2 ปี การส่งออกจะชะลอตัวลงจากขยายตัว 20% ในปี 64 โดยแต่ละประเทศต้องรับมือวิกฤตพลังงาน อาหาร และตลาดเงิน
  • ผู้อำนวยการอาวุโส สายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการศึกษาของฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. ภายใต้สมมติฐานที่ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นไป 2-2.75% ต่อปีภายในสิ้นปี 66 หรือ เพิ่มขึ้น 1.5-2.25% จากระดับ 0.5% ในปัจจุบัน ภายใต้การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เท่ากับค่าเฉลี่ยในอดีต (ที่ดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 100% MLR จะขึ้น 60%) พบว่า หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อขยายตัวเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมิน ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนยังสามารถชำระหนี้ ที่เพียงพอรองรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้กรณีที่ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นไปที่ 2.75% ต่อปี
  • ส.อ.ท. เตือนรับมือวิกฤติอีกระลอก จากคลื่นเศรษฐกิจโลกถดถอย สหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ย นโยบายอีก 0.75-1% ส่งผลค่าเงินเอเชียอ่อนค่ากระทบ นำเข้าวัตถุดิบ ห่วงสหรัฐฯ จ่อลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนกระทบส่งออกไทย เผยสัญญาณคำสั่งซื้อและยอดขาย ต่างประเทศลดลง แนะกระตุ้นภาคท่องเที่ยวพยุงเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง สศอ. เร่งประเมินเศรษฐกิจโลกถดถอย ห่วงราคา
    พลังงานสูงดันต้นทุนพุ่ง
  • เอกชนท่องเที่ยวตั้งรับคลื่นเศรษฐกิจถดถอย พิษ “เงินเฟ้อ-โควิด-ดิจิทัล ดิสรัปชั่น-ศึกชิงทัวริสต์ทั่วโลก” คุมเข้มต้นทุนรอบด้าน “สทท.” จี้ออกมาตรการ “บูสเตอร์ช็อต” ฉีดกระตุ้นกระแสการเดินทาง รับอานิสงส์บาทอ่อน หนุนนักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งแรงส่งต่างชาติเที่ยวไทยปี 65 แนวโน้มทะลุ 12-16 ล้านคน “สมาคมโรงแรมไทย” หวั่นปัญหาต้นทุนลามหนักสกัดการฟื้น
    ตัวจากวิกฤติโควิด
  • องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศ “ฝีดาษลิง” เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ด้าน อนุทิน เรียกประชุมด่วนผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สั่งยกระดับเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร มั่นใจพื้นฐานจากการรับมือโควิด-19 ช่วยคุมการแพร่ระบาดได้ ด้าน ด่านอรัญฯ เตรียมห้องแยกกัก พร้อมเจ้าหน้าที่รับมือฝีดาษลิง
  • ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (22 ก.ค.) โดยดอลลาร์ถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ
    -ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.5 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน จากระดับ 52.3 ในเดือนมิ.ย.
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (22 ก.ค.) แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. และปรับตัวขึ้นในรอบสัปดาห์นี้ หลังจากลดลง 5 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
  • นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 26-27 ก.ค.นี้ ขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 77.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งนี้ และให้น้ำหนักเพียง 22.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%
  • เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ซึ่งรวมถึงประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้ว่าองค์กรระดับโลกซึ่งได้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ออกรายงานเตือนว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง
  • รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะสามารถรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อได้ และยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นวงกว้าง
  • ตลาดการเงินมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ของสหรัฐในวันที่ 28 ก.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นการประมาณการครั้งที่ 1 ส่วนตัวเลข GDP สหรัฐประจำไตรมาส 1 หดตัวลง 1.6%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top