นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องจนเกิดเหตุน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่กว่า 20 จุดใน กทม. ว่า สถานการณ์ในตอนนี้ยังคงหนักอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ฝั่งตะวันออก พบว่ามีปริมาณน้ำฝนสูงถึงกว่า 160 มม. ถือว่าเยอะที่สุดตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งได้สร้างแรงกดดันไปถึงคลองหลัก 2 คลอง คือ คลองลาดพร้าว และคลองแสนแสบ รวมถึงคลองตัน คลองพระโขนง และคลองประเวศ ที่นำน้ำออกไปด้วย
“ส่วนที่น้ำท่วม กทม. จะเร่งดำเนินการระบายน้ำให้เร็วที่สุด ในส่วนของประชาชน ผมต้องขอโทษจริงๆ เพราะเป็นเรื่องที่น้ำฝนหนักจริง ๆ และจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกหลายวัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
พร้อมฝากถึงประชาชนโดยเฉพาะที่อยู่ในฝั่งตะวันออก ให้เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงนี้ ขอแนะนำให้เก็บขยะถุงพลาสติกหน้าบ้านเข้ามาไว้ก่อน หากมีฝนตกจนน้ำท่วมขัง เพื่อป้องกันการอุดตันท่อระบายน้ำ
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงระบบประตูระบายน้ำว่า สำหรับประตูระบายน้ำพระโขนง ทั้งในส่วนที่เป็นอุโมงค์และส่วนที่เป็นประตูระบายน้ำปกติก็สามารถระบายน้ำได้ 255 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นในเวลากลางวัน ไม่สามารถเปิดประตูระบายน้ำในบางคลอง จึงต้องใช้ปั๊มสูบเอา ทำให้ล่าช้า นอกจากนี้ น้ำยังคงเติมมาในคลองลาดพร้าวตลอด โดยในตอนนี้ การลดลงของปริมาณน้ำอยู่แค่ 3 ซม./นาที เท่านั้น อย่างไรก็ดี ในพื้นที่ฝั่งธนบุรีเห็นได้ว่าปริมาณน้ำลดลงได้ค่อนข้างดี
ส่วนแผนบรรเทาความเดือดร้อนระยะสั้น ต้องเข้าไปดูแต่ละพื้นที่ก่อน ถ้าเกิดมีปั๊มน้ำไปช่วยสูบบรรเทาก่อนก็ต้องทำ อย่างน้อยให้เขาเดินเข้าบ้านได้ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ต้องพิจารณาเส้นหลักก่อน อย่างน้อยให้เดินทางเส้นหลักได้ ส่วนตามหมู่บ้านซอยเล็กๆอาจจะต้องรอก่อน ถ้าเส้นหลักลงแล้วตามหมู่บ้านก็ต้องลงตามๆกันไป
“สิ่งที่กทม.เป็นห่วงมาก คือ การที่ประชาชนติดขัดอยู่บนท้องถนนเป็นเวลานาน เนื่องจากในตอนเย็นฝนตกหนักทุกวันในช่วงนี้ จึงอยากขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะประชาชนฝั่งตะวันออก หากใครสามารถทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home ได้ก็จะเป็นการลดปัญหาการติดขัดอยู่บนท้องถนนได้ หรือใครจำเป็นต้องมาทำงาน หากสามารถกลับบ้านเร็วได้ก่อนขอให้รีบกลับก่อน ไม่ต้องมาติดขัดอยู่บนท้องถนน” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 65)
Tags: กทม., กรุงเทพมหานคร, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, น้ำท่วม, ฝนตกหนัก