นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทในสิ้นปี 65 อ่อนค่าลงมาที่ 35 บาท/ดอลลาร์ จากประมาณการเดิมที่ 33.5 บาท/ดอลลาร์ หลังจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เงินทุนไหลกลับเข้าไปในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯมาก ส่งผลต่อทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า โดยที่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันค่าเงินบาทได้อ่อนค่าไปแล้วราว 10% ซึ่งเป็นสกุลเงินหนึ่งในภูมิภาคเอเชียที่มีการอ่อนค่าลงค่อนข้างมาก
โดยการอ่อนค่าของค่าเงินบาทนอกจากจะมาจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมากแล้ว ยังมาจากเงินทุนไหลออกของต่างชาติที่ออกไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเงินทุนที่ไหลออกไปจากตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นที่ปัจจุบันต่างชาติมีการถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยลดลงเหลือมูลค่า 9.6 หมื่นล้านบาท จากต้นปีที่ถือครอง 1.87 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการโยกย้ายเงินทุนกลับไปเข้าดอลลาร์สหรัฐฯที่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และป้องกันการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน หลังจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาก ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาตยังมีการถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นอยู่นั้นจะมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมากถึง 5.2 หมื่นล้านบาท จากที่ต้นปีมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1.5 แสนล้านบาท ทำให้ต่างชาติมีการขายตราสารหนี้ระยะสั้นออกมา และโยกกลับไปเข้าในดอลลาร์สหรัฐฯแทน
“มองว่าในช่วง 1 เดือนนี้ ค่าเงินบาทอาจจะแกว่งตัวใน 2 ช่วงที่ 36-36.49 บาท/ดอลลาร์ และ 36.50-36.99 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะเรายังไม่ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ประเทศอื่นๆเขาเริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ทำให้เงินไหลออกไปก่อน แต่ก็ดูหลังจากนี้ว่าหลังขึ้นดอกเบี้ยแล้วทิศทางค่าเงินบาทจะเริ่มแข็งค่าขึ้นบ้างหรือไม่”
นายกอบสิทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในด้านของหน่วยงานที่มีหน้าดูแลในเรื่องเสถียรภาพของระบการเงินไทย คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้มีการดูแลค่าเงินบาทมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ค่าเงินบาทมีเสีถยรภาพ และไม่อ่อนค่าจนมากเกินไป โดยที่ในช่วงที่ผ่านมาธปท.มีการใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาทในบางช่วง ซึ่งได้มีการขายเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาราว 2.7 พันล้านบาท เพื่อปกป้องค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และยังสามารถช่วยประคองเศรษฐกิจไทยต่อไปได้ ท่ามกลางแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกที่มีมาก โดยเฉพาะทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นของหลายๆประเทศ และการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ
โดยในส่วนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นคาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนส.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.25% ก่อนในการประชุมเดือนส.ค.นี้ และจะทยอยขึ้นอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนพ.ย. 65 อีก 0.25% ทำให้สิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในสิ้นปี 65 อยู่ที่ 1% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 0.50% ต่อปี และรอดูผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทย แต่มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยายไทยจะไม่ปรับขึ้นไปที่ระดับ 2.50% ต่อปี เพราะเป็นระดับที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และเป็นความเสี่ยงต่อการถดถอยของเศรษฐกิจไทย
“ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง เพราะหลายๆประเทศก็ได้มีการผ่อนคันเร่งและเริ่มเหยียบเบรกแรงมากขึ้น จากการที่เงินเฟ้อเร่งตัวสูง ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะตามมาดูภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจที่มีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งไทยเองก็ต้องเผชิญกับปัจจัยดังดล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่แบงก์ชาติให้ความระมัดระวัง ถ้าดูจากเศรษฐกิจเราก็เพิ่งเริ่มฟื้น และยังฟื้นตัวต่ำกว่าศักภาพถึง -5% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด แม้ว่าเราจะเปิดการท่องเที่ยวกลับมาแล้ว แต่ก็เพิ่งเริ่มต้น จะเห็นว่าก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในไทย 40 กว่าล้านคน แต่ปีนี้น่าจะได้สักเสี้ยวหนึ่งราว 7 ล้านคน ก็เป็นการเริ่มต้นกลับมาของภาคท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่”
นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ด้านแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยและเงินเฟ้อในประเทศที่พัฒนาแล้วจะเริ่มเห็นจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/65 และจะเริ่มค่อยๆทยอยปรับลดลงมาตามลำดับ หลังจากที่เริ่มเห็นสัญญาณของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงมาบ้าง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง เพราะประเทศที่มีผลต่อเงินเฟ้อ คือ รัสเซีย ยังคงมีการทำสงครามกับยูเครนที่ยืดเยื้อมาต่อเนื่อง และเกิดการคว่ำบาตรของหลายๆประเทศในยุโรป รวมถึงสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ทำให้เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงยังไม่สามารถคลี่คลายได้ง่ายนัก ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในประเด็นดังกล่าวต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
โดยผลของเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น จากราคาพลังงาน ราคาต้นทุนการผลิต และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมาก ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการมีการปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย และกระทบมาถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องเข้ามารับภาระในการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมาต้นทุนของผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ค้า ได้เพิ่มขึ้นมาสูงถึง 14% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน และผู้บริโภคเองมีต้นทุนในการซื้อสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นราว 7.7% ทำให้ยังคงเป็นความเสี่ยงในต่อเศรษฐกิจในประเทศในภาคการบริโภคในประเทศที่อาจจะมีการชะลอตัวไปบ้าง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 65)
Tags: KBANK, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย, ค่าเงินบาท, ธนาคารกสิกรไทย, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท