ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปอาจจำเป็นต้องควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างเร่งด่วนภายใต้แผนรับมืออุปทานที่ลดน้อยลงจากรัสเซีย โดยคณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมเสนอวิธีการ เพื่อให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ใช้เตรียมตัวสำหรับฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของ EU ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาวิกฤตอุปทานก๊าซที่ตกเป็นประเด็นโต้แย้งมากที่สุดคือการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซ
เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวระบุด้วยว่า แผนควบคุมการใช้ก๊าซส่อเค้ายากที่จะหาข้อสรุป เพราะสมาชิก EU แต่ละประเทศนั้นมีความจำเป็นในการใช้พลังงานแตกต่างกัน โดยเยอรมนีมีความยากลำบากมากกว่าในการลดการใช้ก๊าซ 5% เมื่อเทียบกับสเปน เนื่องจากเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าพลังงานรัสเซียรายใหญ่ที่สุด
ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งก๊าซสำคัญจากรัสเซียไปยังยุโรป ปิดดำเนินงาน เพื่อซ่อมบำรุงถึงวันที่ 21 ก.ค. อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่จำนวนมากของยุโรปต่างไม่แน่ใจว่า รัสเซียจะกลับมาจัดส่งก๊าซให้กับยุโรปแบบเต็มศักยภาพดังเช่นที่ผ่านมาหรือไม่
“รัสเซียยกระดับสงครามสินค้าโภคภัณฑ์กับยุโรปด้วยการระงับการจัดส่งก๊าซผ่านท่อขนส่ง Nord Stream 1 นางเวลินา ทชาคาโรวา ผู้อำนวยการสถาบัน AIES ของออสเตรียกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี พร้อมเสริมว่า “ประเทศที่พึ่งพาก๊าซรัสเซียอย่างหนักจะตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจขั้นรุนแรง”
ด้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียเปิดเผยในวันนี้ (20 ก.ค.) ว่า ศักยภาพในการส่งของท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 1 อาจจะลดลงอีก เนื่องจากกระบวนการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ของท่อส่งก๊าซแห่งนี้ดำเนินไปอย่างล่าช้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 65)
Tags: EU, ก๊าซธรรมชาติ, คณะกรรมาธิการยุโรป, พลังงาน, รัสเซีย, วลาดิเมียร์ ปูติน, สมาชิกสหภาพยุโรป