ใกล้จะถึงโค้งสุดท้ายแล้วในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษแทนที่นายบอริส จอห์นสันที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยปัจจุบันเหลือผู้ท้าชิงเพียง 3 คนสุดท้าย ได้แก่ นายริชิ ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษ นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนางเพนนี มอร์ดอนท์ รัฐมนตรีกระทรวงการค้า ก่อนจะตัดเหลือ 2 คนสุดท้ายในการลงคะแนนเสียงในวันที่ 21 ก.ค.นี้
รูปแบบการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ของพรรคอนุรักษ์นิยมนั้นจะเริ่มจากการที่ให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งแต่ละคนได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างน้อยคนละ 20 เสียง ก่อนจะเข้าสู่การลงคะแนนรอบแรกโดยจะตัดชื่อผู้ที่ได้คะแนนเสียงไม่ถึง 30 เสียงออกไป และเริ่มเข้าสู่การลงคะแนนรอบสอง ซึ่งจะทำการลงคะแนนโหวตเพื่อคัดผู้มีคะแนนต่ำสุดออกไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเหลือเพียง 2 คนสุดท้าย และผู้สมัคร 2 คนดังกล่าวจะเข้าสู่กระบวนการลงคะแนนของสมาชิกพรรคทั่วประเทศจำนวนกว่า 200,000 คน ก่อนจะประกาศชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษในวันที่ 5 ก.ย.
ทั้งนี้ ผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษโดยอัตโนมัติ เนื่องจากพรรคอนุรักษ์นิยมครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ
3 ผู้ท้าชิงสุดท้าย สู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของอังกฤษในรอบ 6 ปี
นายริชิ ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังเชื้อสายอินเดีย
นายซูแนค วัย 42 ปีเกิดที่เมืองเซาแธมป์ตันในอังกฤษ โดยบิดา-มารดาเป็นชาวอินเดียที่เกิดในแอฟริกาตะวันออกก่อนจะอพยพมายังอังกฤษ นายซูแนคจบการศึกษาจากวิทยาลัยวินเชสเตอร์ และศึกษาด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐกิจจากวิทยาลัยลินคอล์น ออกซฟอร์ด และเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
นายซูแนคทำงานเป็นนักวิเคราะห์ให้กับโกลด์แมน แซคส์ในระหว่างปี 2544-2547 และย้ายไปทำงานกับบริษัทเฮดจ์ฟันด์อีก 2 แห่ง ก่อนจะเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี 2558 เมื่อได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของริชมอนด์ และรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในสมัยของนายจอห์นสันเมื่อเดือนก.พ. 2563 ก่อนตัดสินใจลาออกในช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่พอใจการทำหน้าที่ผู้นำของนายจอห์นสัน และเป็นจุดเริ่มต้นทำให้รัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษเกือบ 60 รายประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อกดดันให้นายจอห์นสันลาออกจากตำแหน่งในที่สุด
ทั้งนี้ นายซูแนคได้รับคะแนนนิยมอย่างมากหลังประกาศว่าจะ “ทำทุกอย่างที่ทำได้” เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 และได้ออกนโยบายช่วยเหลือวงเงินรวมกว่า 3.5 แสนล้านปอนด์
นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผู้คร่ำหวอดในสภา
นางทรัสส์ วัย 46 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐกิจ โดยมีความสนใจในด้านการเมืองตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ ก่อนจะเข้าสู่เส้นทางการเมือง นางทรัสส์ทำงานเป็นนักบัญชีและได้รับเลือกให้รับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขตตะวันตกเฉียงใต้ของนอร์ฟอล์กในปี 2553 และได้รับตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการในปี 2555
ในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ นางทรัสส์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และประธานศาลสูง ซึ่งนับเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ ก่อนจะย้ายไปรับตำแหน่งเลขาธิการกระทรวงการคลังในภายหลัง ต่อมาในสมัยของนายจอห์นสัน นางทรัสส์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศ และย้ายมารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ
ในตอนแรกนางทรัสส์คัดค้านการทำเบร็กซิต (Brexit) แต่หลายปีมานี้ นางทรัสส์มีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป (EU) และขู่จะละเมิดข้อตกลงการค้าในปัจจุบันระหว่างอังกฤษกับ EU อยู่บ่อยครั้ง
นางเพนนี มอร์ดอนท์ รัฐมนตรีกระทรวงการค้า ขวัญใจชาวรากหญ้า
นางมอร์ดอนท์ วัย 49 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง นางมอร์ดอนท์เข้าสู่เส้นทางการเมืองเมื่อได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพอร์ทสมัธเหนือในปี 2563 ก่อนจะได้รับเลือกให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรกของอังกฤษในสมัยของนางเมย์ อย่างไรก็ตาม นางมอร์ดอนท์อยู่ในตำแหน่งได้เพียงไม่กี่เดือนก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งหลังจากที่นายจอห์นสันขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่
นางมอร์ดอนท์ได้รับเสียงสนับสนุนมากมายจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมและประชาชนกลุ่มรากหญ้า นอกจากนี้ นางมอร์ดอนท์ยังเป็นผู้สนับสนุนเบร็กซิตตัวยง รวมถึงสนับสนุนสิทธิของกลุ่มบุคคลข้ามเพศด้วย
จุดยืนด้านนโยบายที่ต่างกัน
ปัจจุบันอังกฤษกำลังเผชิญปัญหาหลายอย่าง ทั้งภาวะเงินเฟ้อที่สูงหรืออุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเชื่อได้ว่าประชาชนอังกฤษต่างหวังว่าผู้นำคนใหม่จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งจุดหลัก ๆ ที่ผู้ท้าชิงทั้ง 3 พูดถึงก็มีเรื่องภาษี โดยนางทรัสส์และนางมอร์ดอนท์ได้มีการเสนอว่าจะปรับลดภาษี แต่ยังไม่ได้ระบุอย่างละเอียดว่าจะชดเชยรายได้ที่หายไปอย่างไร ขณะที่นายซูแนคก็โจมตีว่า เป็นสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและไม่ใช่แนวทางอนุรักษ์นิยม
นางทรัสส์ระบุว่าจะระงับการเพิ่มภาษีประกันแห่งรัฐที่ประกาศในเดือนเม.ย., ยกเลิกแผนการขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีกำหนดจะเพิ่มจาก 19% เป็น 25% ในเดือนเม.ย. 2566 รวมถึงยกเลิกโครงการภาษีพลังงานสะอาด โดยนางทรัสส์ยังโจมตีด้วยว่า ภายใต้แผนปัจจุบันนั้น ภาระด้านภาษีพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 70 ปี
ด้านนางมอร์ดอนท์ระบุว่า จะเพิ่มฐานภาษีเงินได้สำหรับผู้มีรายได้พื้นฐานและรายได้ปานกลางให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อ, ลดภาษีเชื้อเพลิงเหลือ 10% จากเดิม 20% รวมถึงยกเลิกโครงการภาษีพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ โครงการภาษีพลังงานสะอาดดังกล่าว คือโครงการที่รัฐบาลให้ทุนช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เช่น ช่วยชำระค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่ยากจน สนับสนุนการปรับปรุงประสิทธิภาพในบ้านและธุรกิจ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทดแทน
ส่วนนายซูแนค ซึ่งเพิ่งลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องแปลก หากจะมีการโจมตีหรือการเปลี่ยนแปลงสำคัญใด ๆ ต่อนโยบายปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม นายซูแนคระบุว่า หากควบคุมเงินเฟ้อได้แล้วก็จะจัดการเรื่องการลดภาระภาษีของประชาชน และต้องการปฏิรูปวิธีที่ธุรกิจต่าง ๆ จ่ายภาษี
ขณะที่อีกปัญหาหนึ่งคือ การที่อังกฤษตั้งเป้าหมายที่จะลดการปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองสำคัญทุกฝ่าย และได้ตราเป็นกฎหมายแล้ว เป้าหมายดังกล่าวไม่ใช่นโยบายที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่รัฐมนตรีคนใหม่จะต้องทำการตัดสินใจมากมายเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว
นายซูแนคพยายามเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องดังกล่าว แต่ได้ระบุว่า “ถ้าเราทำมากเกินไปและเร็วเกินไป เราจะสูญเสียผู้คน และนั่นไม่ใช่วิธีที่ดี ผมคิดว่าเราสามารถทำได้ตามเป้าในแบบที่เกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ การจ้างงาน มันเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต”
ด้านนางทรัสส์ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว แต่เสริมด้วยว่าจำเป็นต้อง “หาวิธีที่ดีกว่านี้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นโดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้คนและธุรกิจต่าง ๆ “
ส่วนนางมอร์ดอนท์สนับสนุนเป้าหมายดังกล่าวอย่างมาก โดยมองว่าเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์เป็น “โอกาสมากกว่าค่าใช้จ่าย” เพราะการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดจะสร้างงานใหม่เพิ่มขึ้นหลายล้านตำแหน่งในสิบปีข้างหน้า และยกระดับความมั่นคงด้านพลังงานของอังกฤษได้อย่างรวดเร็ว
เราจะสามารถทราบชื่อ 2 ผู้ท้าชิงสุดท้ายสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษได้ในช่วงกลางคืนของวันที่ 21 ก.ค.นี้ ก่อนจะทราบผลการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษได้ในวันที่ 5 ก.ย. ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นโฉมหน้าการเมืองของอังกฤษจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 65)
Tags: ริชิ ซูแนค, ลิซ ทรัสส์, อังกฤษ, เพนนี มอร์ดอนท์, เลือกตั้ง