นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก (GBS) คาดว่าตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่ง Sideway Down ในกรอบ 1,500-1,550 จุด โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และความกังวลเศรษฐกิจถดถอย โดยล่าสุดทาง FedWatch Tool ของ CME Group ให้ข้อมูลว่านักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 30% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (FED Fund Rate) 1.00% ลดลงจากระดับกว่า 80% ในสัปดาห์ที่แล้ว และให้น้ำหนัก 70% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (FED Fund Rate) 0.75% หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
อีกทั้งทางผู้ว่าการธนาคารกลางฟินแลนด์ได้เปิดเผยว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมวันที่ 21 ก.ค. และปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือน ก.ย. ประกอบราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงจากความกังวลจีนหวนล็อกดาวน์หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง ซึ่งทางรัฐบาลมาเก๊าจะขยายเวลาล็อกดาวน์ต่อไปจนถึงวันที่ 22 ก.ค.จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 18 ก.ค. ซึ่งเป็นการสั่งปิดบ่อนคาสิโนทั้งหมดเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงคาดการณ์ GDP ของจีนปี 65 มีแนวโน้มเติบโตลดลงจากเดิม หลัง GDP ไตรมาส 2/65 ขยายตัวเพียง 0.4%YoY ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 1.5%YoY ในช่วง 1H65 GDP เติบโตเพียง 2.5% เนื่องจากจีนล็อกดาวน์เมืองสำคัญในเดือน มี.ค.-เม.ย. 65 หลังมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เร่งตัวสูงขึ้น
ส่วนปัจจัยในประเทศที่ยังคงต้องจับตาต่อเนื่อง อาทิ อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค. ซึ่งมีกำหนดลงมติ 23 ก.ค. การประกาศผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มธนาคารงวดไตรมาส 2/65 และครึ่งแรกของปี 65
ด้านสถานการณ์ต่างประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป (อียู) รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย., สหรัฐ รายงานการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน มิ.ย. , ธนาคารกลางจีนกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR , สหรัฐ รายงานยอดขายบ้านมือสองเดือน มิ.ย. และ สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ , ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย, ECB ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย และการประชุมเฟดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ทั้งนี้ แนะนำกลยุทธ์การลงทุนใน 3 กลุ่มเด่น ได้แก่ หุ้นส่งออกได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง 10%YTD สู่ 36.59 บาท/ดอลลาร์เป็นตัวหนุนรายได้และการทำกำไรของกลุ่มส่งออกให้ดีขึ้น หุ้นน่าลงทุนได้แก่ GFPT, TFG, CPF และ CFRESH ส่วนกลุ่มที่ 2 ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้แก่ KBANK, SCB และ BLA และกลุ่มที่ 3 หุ้น Defensive รายได้สม่ำเสมอแม้ภาวะเศรษฐกิจต่ำ ได้แก่ TTW, EGCO, GPSC, BGRIM และ GULF
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย GBS กล่าวว่า แนวโน้มราคาทองคำยังคงต้องจับตาตัวเลขดัชนีจัดซื้อทั้งภาคการผลิตและบริการของสหรัฐจะอ่อนตัวลงหลุดระดับ 50 หรือไม่ เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย อีกทั้งหากตลาดเริ่มรับข่าวการที่เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ 1% อาจหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับขึ้นเหนือ 3.0% จะเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำในระยะถัดไป
ฝ่ายวิจัยประเมินว่า ราคาทองคำอาจ Sideway down เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันรออยู่ข้างหน้า คือผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ในวันที่ 27 ก.ค. ฉะนั้น ราคาทองคำอาจซื้อขายในกรอบ 1,670-1,730 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ คำแนะนำระวังความผันผวน โดยซื้อขายในกรอบที่ให้ไว้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 65)
Tags: GBS, ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์, ตลาดหุ้นไทย, วิลาสินี บุญมาสูงทรง, หุ้นไทย, โกลเบล็ก