นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช. ประกาศปรับหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งเกิดความเข้าใจผิดว่า สปสช. จะไม่จ่ายค่าบริการ หรือ จะยกเลิกบริการที่เกี่ยวกับโควิด-19 เช่น การตรวจคัดกรอง การดูแลแบบ Home Isolation, Community Isolation เป็นต้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด การปรับหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 ไม่ใช่การยกเลิกบริการ สปสช. ขอยืนยันว่าประชาชนจะยังได้รับการดูแลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เช่นเดิม
สาระสำคัญของการปรับหลักเกณฑ์ฯดังกล่าว เป็นเพียงการเปลี่ยนแหล่งที่มาของงบประมาณที่ใช้เพื่อดูแลเกี่ยวกับโควิด-19 เท่านั้น จากเดิมที่ใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน มาเป็นการใช้เงินจากแหล่งงบประมาณตามระบบปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโรคโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น กล่าวคือ หากผู้ป่วยใช้สิทธิบัตรทอง โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการที่ให้บริการเกี่ยวกับโควิด-19 ก็จะเบิกเงินตามระบบปกติของ สปสช. เหมือนโรคอื่นๆ หากเป็นผู้ป่วยในก็คือการจ่ายแบบ DRG หากเป็นผู้ป่วยนอกก็จะจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบบัตรทองก็จะสามารถเข้าไปรับบริการได้ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเบิกจ่ายเงินระหว่าง สปสช. และหน่วยบริการ ไม่เกี่ยวกับการให้บริการประชาชนแต่อย่างใด
นพ.จเด็จ ยกตัวอย่างอีกว่า ในส่วนของการดูแลแบบ Home Isolation, Community Isolation ที่ประชาชนบางส่วนเข้าใจว่าถูกยกเลิกไปแล้วนั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการยกเลิกแต่อย่างใด สปสช.ยังคงจ่ายชดเชยค่าบริการให้แก่โรงพยาบาล เพียงแต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความเห็นของแพทย์ หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าคนไข้รายใดควรได้รับการดูแลแบบ Home Isolation สปสช.ก็จะตามไปจ่ายค่าบริการให้
“ต้องย้อนกลับไปช่วงปีก่อน เหตุผลที่เรานำระบบ Home Isolation มาใช้เพราะตอนระบาดแรกๆนั้น โรงพยาบาลรับคนไข้เข้าเป็นผู้ป่วยในทุกคนจนเกิดปัญหาเตียงไม่พอ ต่อมาก็มีการบริหารจัดการ สงวนเตียงในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยอาการปานกลางและอาการหนัก ส่วนผู้ป่วยสีเขียวที่อาการไม่หนักมาก เราก็ใช้การดูแลแบบ Home Isolation แต่ตอนนี้ประชาชนได้รับวัคซีนจำนวนมากแล้ว อาการป่วยส่วนใหญ่จึงไม่หนักมาก ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขใช้ระบบการดูแลแบบ “เจอ แจก จบ” ทำให้ดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น แต่หากแพทย์มีความเห็นว่าผู้ป่วยรายใดควรได้รับการดูแลแบบ Home Isolation สปสช.ก็จ่ายค่าบริการให้เช่นกัน ดังนั้นขึ้นอยู่กับดุลย์พินิจของแพทย์ว่าจะใช้การดูแลแบบไหนถึงจะดีกับผู้ป่วยมากที่สุด”
นพ.จเด็จ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 65)
Tags: Home Isolation, lifestyle, จเด็จ ธรรมธัชอารี, สปสช., โควิด-19