อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอินโดฯจี้รัฐทบทวนเงื่อนไขส่งออก หวั่นซัพพลายล้นตลาด

ภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์ม และภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดทางให้สามารถจำหน่ายผลผลิต ไม่เช่นนั้นอาจต้องทิ้งสูญเปล่า เนื่องจากใกล้ถึงฤดูเก็บเกี่ยวซึ่งคาดว่าจะทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มถึงขีดจำกัด

ทั้งนี้ การผ่อนคลายข้อจำกัดการส่งออกของอินโดนีเซียจะช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านราคาของน้ำมันปาล์ม ที่ลดลงเกือบเท่าตัวมาตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา จนแตะระดับต่ำสุดในรอบปี

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียเผชิญปัญหาน้ำมันในสต็อกที่มีปริมาณมาก หลังจากที่รัฐบาลระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มเมื่อวันที่ 28 เม.ย. เพื่อควบคุมราคาน้ำมันปาล์มในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น ก่อนจะอนุญาตให้ส่งออกได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. แต่มาพร้อมนโยบายควบคุมเพื่อป้องกันซัพพลายในประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มพุ่งสูง ขณะที่อินโดนีเซียต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกราว 2 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดได้ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม แต่ให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ว่า บริษัทต่าง ๆ จะต้องได้รับใบอนุญาตส่งออกน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มโอเลอิน โดยรัฐบาลจะมอบใบอนุญาตให้แก่บริษัทที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการจำหน่ายน้ำมันปาล์มภายในประเทศตามที่รัฐบาลกำหนด (DMO) ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 6 เดือน และบริษัทจะต้องรายงานตัวเลขการส่งออกน้ำมันปาล์มทุกเดือนกับทางรัฐบาล

ทางด้านนายซาฮัต ซินากา ประธานคณะกรรมการน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียกล่าวว่า “ผมได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลยกเลิกเงื่อนไข DMO เราไม่ต้องการ DMO เพราะคำนวณยาก”

ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มยังคงรอความชัดเจนจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ส่งออก ก่อนดำเนินการจองเรือบรรทุกสินค้า เนื่องจากเกรงว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงนโบายอีก

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top