ตลาดพันธบัตรสหรัฐยังคงเกิดภาวะ inverted yield curve ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีอยู่เหนือระดับ 3.2% และสูงกว่าอายุ 5 ปี, 10 ปี และ 30 ปี ท่ามกลางความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ณ เวลา 17.40 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 3.207% โดยสูงกว่าพันธบัตรอายุ 5 ปี ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.079% ขณะที่พันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 2.961% และพันธบัตรอายุ 30 ปี อยู่ที่ 3.12%
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อนโยบายการเงินของเฟด และขณะนี้ทำสถิติค่าสเปรดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543 เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี
ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนมิ.ย.
นอกจากนี้ นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐ หลังจากที่เฟดส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ เฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.2% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.9%
ตัวเลขคาดการณ์ GDPNow บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 2 รุนแรงน้อยกว่าไตรมาส 1 ซึ่งหดตัว 1.6% แต่ก็แสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าเกณฑ์การเกิดภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 65)
Tags: inverted yield curve, พันธบัตรสหรัฐ