นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า เชื่อว่าในปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% แต่ ธอส.จะพยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้จนถึงเดือน ต.ค. เพื่อลดผลกระทบสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ครั้งนี้ จะทำให้ ธอส.ได้รับผลกระทบเรื่องต้นทุนประมาณ 1 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้น การพูดว่าไม่ขึ้น จะเป็นการฝืนตลาดในหลายส่วน ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง. คงเป็นการทยอยขึ้น
นายฉัตรชัย กล่าวว่า บทบาทของ ธอส. ที่ยังต้องทำหน้าที่อยู่ตามนโยบายรัฐ คือ การดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แม้ว่าผลกระทบจากต้นทุนที่เกิดจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะสูงขึ้น แต่ ธอส. มองว่าธนาคารยังเป็นอีกกลไกที่สามารถเข้าไปช่วยพยุงภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ในช่วงดังกล่าว ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ และผู้บริโภคเองก็ต้องเร่งปรับตัวด้วยเช่นกัน
“หากกนง.ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ส.ค.นี้ ธอส.จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยทันที แต่จะตรึงไว้ก่อน และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ในเดือนต.ค. แต่จะไม่ขึ้นระดับเดียวกับที่ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยประเมินว่าหาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ธอส. อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.15% ต่อปี และจะตรึงต่อไปยาวจนถึงเดือน ม.ค.66 จึงจะมีการพิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้ลูกค้าเกิดการปรับตัว โดยภาระที่เพิ่มขึ้นจากการตรึงดอกเบี้ยราว 1 พันล้านบาทนั้น อยู่ในบริบทที่ธนาคารยังรับได้” นายฉัตรชัย กล่าว
สำหรับภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของ ธอส. ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) อยู่ที่ 1.34 แสนล้านบาท โดยภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ 2.6 – 3 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่ปล่อยสินเชื่อได้ที่ 2.26 แสนล้านบาท ส่งผลให้สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.52 ล้านล้านบาท และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับ 4.41%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 65)
Tags: กนง., ฉัตรชัย ศิริไล, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธอส., อสังหาริมทรัพย์, อัตราดอกเบี้ย, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย