ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินจำนวน 204 แห่ง โดยระบุว่า ธนาคารต่าง ๆ ของเกาหลีใต้วางแผนที่จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านการปล่อยเงินกู้ในไตรมาส 3 ปีนี้ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นได้ส่งผลให้ความต้องการกู้เงินของภาคครัวเรือนชะลอตัวลง โดยผลสำรวจดังกล่าวจัดทำในระหว่างวันที่ 15-30 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ผลสำรวจระบุว่า ดัชนีชี้วัดแนวโน้มด้านการปล่อยเงินกู้ (Lending Attitude Index) ของธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ระดับ +6 ในไตรมาส 3 ลดลง 13 จุดจากไตรมาส 2
ทั้งนี้ แม้ว่าดัชนีแนวโน้มการปล่อยกู้ปรับตัวลงติดต่อกัน 3 ไตรมาส แต่ดัชนีที่อยู่เหนือระดับศูนย์บ่งชี้ว่า จำนวนธนาคารที่เต็มใจจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านการปล่อยเงินกู้นั้น มีจำนวนมากกว่าธนาคารที่ต้องการกำหนดกฎเกณฑ์ให้เข้มงวดมากขึ้น
ส่วนดัชนีแนวโน้มการปล่อยเงินกู้จำนองสำหรับภาคครัวเรือนในไตรมาส 3 ลดลงแตะระดับ +14 จากระดับ +31 ในไตรมาส 2 และดัชนีแนวโน้มการปล่อยเงินกู้สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ ลดลงแตะ -6 จากระดับ +3 ขณะที่ดัชนีแนวโน้มการปล่อยเงินกู้สำหรับบริษัทขนาดเล็ก ลดลงสู่ระดับ -6 จากระดับ +6
BOK ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.75% ในการประชุมเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยสองเดือนติดต่อกันเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 15 ปี เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า BOK จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมวันที่ 13 ก.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปีที่ BOK ปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 0.50%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 65)
Tags: BOK, ธนาคารกลางเกาหลีใต้, ธนาคารพาณิชย์, เกาหลีใต้, เงินกู้, เศรษฐกิจเกาหลีใต้