นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ระบุปัญหาเงินบาทอ่อนค่าและเกิดความผันผวนมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกจะหดตัว และการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้ตัดสินใจลดความเสี่ยงหันมาถือครองดอลลาร์และพันธบัตรระยะสั้น
สำหรับภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีแรกมีปัญหายอดดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอย่างมาก เนื่องจากต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับตัวดีขึ้น แนวจากมีแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกอีก 2-2.5 เท่า และหากกรณีรัสเซีย-ยูเครนไม่เกิดความรุนแรงกว่านี้จะช่วยให้แนวโน้มราคาพลังงานปรับตัวลดลงได้
“ค่าเงินบาทมีโอกาสกลับมาอยู่ที่ระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์ในช่วงปลายปีนี้”
นายพชรพจน์ กล่าว
ส่วนกรณีที่เงินบาทอ่อนค่านั้นจะส่งผลดีต่อการส่งออกให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ค่อนข้างดี โดยยอดส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5-7% แต่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวบ้าง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 65)
Tags: KTB, ค่าเงินบาท, ธนาคารกรุงไทย, พชรพจน์ นันทรามาศ, เศรษฐกิจโลก, เศรษฐกิจไทย