นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้กล่าวถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 23 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับที่ .. พ.ศ. … ให้ใช้สูตรการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยนำ 500 มาหารว่า ถือว่าเป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิกรัฐสภามีสิทธิที่จะลงมติ เมื่อมติเสียงข้างมากออกมาเช่นนั้นก็ต้องเคารพในการตัดสินใจลงมติของสมาชิกรัฐสภา การมีความเห็นของแต่ละฝ่ายย่อมมีเหตุผลมารองรับในการตัดสินใจ เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองก็จะต้องมีการเตรียมการเพื่อให้รองรับกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวต่อไป
นายราเมศ กล่าวต่อว่า หากฝ่ายค้านยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการการวินิจฉัยความชอบของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ต้องถือว่าเป็นสิทธิของฝ่ายค้านตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบว่ามีกระบวนการตราหรือมีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กระบวนการตรวจสอบของร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญกระบวนการตรวจสอบก็มีหลักการเช่นเดียวกันกับการตรวจสอบร่างพ.ร.บ.ทั่วไป รวมถึงการให้รัฐสภาต้องส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากฝ่ายค้านมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญทุกฝ่ายก็ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ผลออกมาเป็นเช่นไรก็ยุติและน้อมรับผลคำวินิจฉัยของศาล
ส่วนที่มีการกล่าวว่าการลงมติของสมาชิกรัฐสภา มีใบสั่งจากฝ่ายบริหารนั้น ในส่วนของพรรคยืนยันว่าไม่มีใครสั่ง สมาชิกรัฐสภา ส.ส.ทุกคนมีเหตุและผลเพื่อนำไปสู่การลงมติทั้งสิ้น การทำหน้าที่ของ ส.ส.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าทุกประเด็นที่ถกเถียงกันมีหลักการกระบวนการต่างๆระบุไว้ค่อนข้างรัดกุม เพียงแต่ในทุกกระบวนการที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ผลออกมาเป็นเช่นใดทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับของผลที่จะเกิดขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 65)
Tags: พรรคประชาธิปัตย์, ราเมศ รัตนะเชวง, สูตรคำนวณส.ส.