ตลาดคริปโทฯ ขาลงกระหน่ำยังไม่พอ ข่าวร้ายกลับยิ่งถาโถม ล่าสุด Voyager Digital ประกาศยื่นล้มละลาย กระเทือนทั้งวงการคริปโทฯ หรือว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะเริ่มไม่มั่นคงเสียแล้ว
ตั้งแต่ที่วงการคริปโทฯ เข้าสู่ช่วงตลาดหมีหนัก ๆ หรือ Crypto Winter มีแต่ข่าวร้ายมาไม่หยุด แถมล่าสุด Voyager Digital บริษัทโบรกเกอร์ คริปโทเคอร์เรนซี ชื่อดัง ที่ได้ทำการปล่อยกู้ให้กับ Three Arrows Capital (3AC) ซึ่งเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) ของสิงคโปร์ที่เน้นลงทุนในคริปโทฯ ได้ประกาศยื่นคดีล้มละลายในบทที่ 11 พร้อมกับแผนฟื้นฟู งานนี้สายคริปโทฯใจหายใจคว่ำไปตาม ๆ กัน
รายละเอียดของบทที่ 11 มันเป็นกระบวนการล้มละลายที่ช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ในขณะที่มีการปรับโครงสร้างและภาระผูกพันของบริษัท แผนการปรับโครงสร้างองค์กรที่เสนอจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเจ้าหนี้ และหากไม่มีการเสนอแนะแผน เจ้าหนี้ก็อาจเสนอแผนแทน
สาเหตุครั้งนี้เกิดจากที่ทาง 3AC ได้ผิดนัดชำระหนี้กว่า 15,250 BTC กับ 350 ล้าน ของ USDC รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทาง 3AC ได้เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ไปเมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
ทางด้านนาย Stephen Ehrlich, CEO ของ Voyager Digital กล่าวว่า “การปรับโครงสร้างองค์กรนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องทรัพย์สินบนแพลตฟอร์มและเพิ่มมูลค่าสูงสุดสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รวมถึงลูกค้าด้วย”
สำหรับใครที่ลงทุนกับ Voyager Digital ก็ต้องรอติดตามกันว่าจะได้เงินคืนหรือไม่
ท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทย ที่ทำให้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนลง มูลค่าก็ลดลงตลอดเวลา แถมเหรียญคริปโทฯ สกุลหลักอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum ก็ราคาปรับร่วงลงด้วย แต่ว่า Stable Coin อย่าง USDT กลับค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ เลย สวนทางตลาดขาลงช่วงนี้
การที่ Stable Coin อย่าง USDT มีการปรับตัวขึ้น ก็อาจเกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อที่แตะ 7% ไปแล้ว หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับตัวสูงขึ้นตามด้วย
และแน่นอนว่าในช่วงตลาดขาลง สายคริปโทฯ อย่างเราก็มักจะนิยมถือเป็น Stable Coin กันมากกว่าด้วย เพราะว่าความผันผวนที่น้อย แถมยังเป็นเงินสกุลกลาง
แต่อย่างที่เราบอกกันประจำว่า Stable Coin คือเหรียญที่ถูกเป๊ก (PEG) มูลค่าอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ แต่ไม่ได้หมายความว่า Stable Coin จะมีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์ไปตลอดเวลา อาจจะมีค่าต่างกัน Dip กันได้เช่นกัน
ส่วนใครที่กำลังหนาวเหน็บกับตลาด Cryptocurrency การเปลี่ยนมาถือ Stable Coin ก็ช่วยได้มากทีเดียว
จากที่ก่อนหน้านี้เราจะเห็นข่าวที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงดาบ Bitkub และ Satang Pro เกี่ยวกับกรณีการทำ Market Maker (MM) เมื่อปี 2562 วันนี้เราจะมาสรุปให้ฟังว่า Market Maker กับ Wash Trading มันคืออะไร แล้วต่างกันอย่างไรกันแน่
ต้องบอกก่อนว่า การที่ตลาดรอง จะมีการทำ Market Maker ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะการทำ Market Maker มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง (Liquidity) ให้กับตลาดนั่นเอง โดย MM ก็จะเข้าไปตั้งคำสั่งซื้อหรือขาย (Bid & Offer) ให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพื่อให้ราคาที่เกิดขึ้นสะท้อนความต้องการของผู้ลงทุนอย่างแท้จริง ซึ่งตรงนี้ MM ก็อาจจะได้ค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์เป็นส่วนลดค่าธรรมเนียม หรือผลตอบแทนอื่น
แต่ใจความสำคัญมันอยู่ที่การส่งคำสั่งของ Market Maker จะต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดโดยรวม หรือหาประโยชน์จากผู้ลงทุน สิ่งสำคัญคือต้องไม่เป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่อย่างนั้น ก็จะกลายเป็น Wash Trading ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ Market Maker จะเข้าไปตั้งราคาเสนอซื้อ ขาย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาด แต่จะไม่เข้าไปซื้อขายและจับคู่กันเอง เพื่อให้ราคาไปอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ในลักษณะการชี้นำราคา และทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิด หรือสำคัญผิดทั้งในส่วนของราคาและปริมาณการซื้อขาย ซึ่งเป็นการทำเกินหน้าที่ เอาเปรียบนักลงทุนรายอื่น อาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย
จริงๆ แล้ว Infoquest มีคอลัมน์ที่วิเคราะห์เรื่องราวเกี่ยวกับ Crypto เชิงกฎหมายด้วยเหมือนกัน สำหรับใครที่สนใจ สามารถดูได้ที่คอลัมน์ DeCrypto
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 65)
Tags: Bitkub, Cryptocurrency, CryptoShot, Market Maker, Stable Coin, USDT, Voyager Digital, คริปโทเคอร์เรนซี, สินทรัพย์ดิจิทัล