กทม.แถลงผลงาน 30 วันผู้ว่าฯ เดินหน้านโยบายเร่งด่วน สร้างกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่

นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และโฆษกของ กทม.แถลงข่าวในหัวข้อ “30 วัน กทม.สร้างความร่วมมือทุกมิติ โปร่งใสสำหรับทุกคน” ว่า ผลงานในช่วง 30 วันฯ สามารถแบ่งออกเป็น 4 เรื่องหลักๆ ประกอบด้วย เรื่องแรก 216+นโยบาย เรื่องที่สอง 4 นโยบายเร่งด่วน เรื่องที่สามความโปร่งใส และเรื่องที่สี่การประสานงาน

216 + นโยบาย

ได้นำนโยบายที่จำเป็นต้องใช้เงินผูกเข้ากับโครงการต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะอยู่ภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์ของ กทม.เรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญ เพราะหากนโยบายไม่สามารถผูกเข้ากับยุทธศาสตร์ต่างๆ ได้ก็จะไม่สามารถผลักดันได้เพราะไม่มีงบประมาณ ปัจจุบันได้นำนโยบายผูกเข้ากับงบประมาณปี 65 และ 66 เพื่อจัดทำร่างงบประมาณให้ประชาชนได้เห็นทางออนไลน์ ซึ่งเป็นวันที่ 2 ที่สภา กทม.กำลังพิจารณากันอยู่ การผลักดัน 216+นโยบาย ให้สำเร็จเป็นรูปธรรมถือเป็นเรื่องสำคัญที่ได้ดำเนินการแล้วในระยะเริ่มต้น

4 นโยบายเร่งด่วน ประกอบด้วย

  • การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมีหลายนโยบาย เช่น การขุดลอกท่อระบายน้ำ โดยพื้นที่ กทม.มีความยาวท่อระบายน้ำ 6,564 กม. ปีงบประมาณนี้มีเป้าหมายขุดลอกท่อ 3,390.43 กม. ปัจจุบันดำเนินการลอกท่อแล้ว 2,387 กม. หรือคิดเป็น 70.4% (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ค.65) ซึ่งเหลือเวลาประมาณ 2 เดือน คาดว่าจะสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะได้ความร่วมมือจากกรมราชทัณฑ์ โดยครั้งแรกกรมราชทัณฑ์ได้ขุดลอกท่อบริเวณห้วยขวาง และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ค.65 เพิ่มมาอีก 10 จุด อาทิ ถนนพหลโยธิน ถนนศรีนครินทร์ ถนนนวมินทร์ ถนนลาดพร้าววังหิน ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ถนนอังรีดูนังต์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้พนักงานรักษาความสะอาดของเขตก็เป็นอีกส่วนที่คอยดูแลตั้งแต่ต้นทาง โดยมีการเก็บขยะหน้าตระแกรง เพื่อไม่ให้ท่อระบายน้ำอุดตันด้วย
  • ความปลอดภัยบนท้องถนน เริ่มต้นด้วยทางม้าลาย กทม.มีทางม้าลายจำนวนทั้งสิ้น 2,591 จุด สำรวจแล้วมีปัญหา 1,620 จุด โดยจะติดตั้งสัญญาณไฟแจ้งเตือน 80 จุด แบ่งเป็น ไฟทางข้าม 30 จุด และไฟกระพริบ 50 จุด ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.65 ส่วนเรื่องสีของทางม้าลาย ความชัดเจนต่างๆ สำนักการจราจรได้ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 743 จุด ในส่วนของโครงการเทศกิจ School Care ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่ กทม.มีอยู่แล้ว โดยมีการดูแลโรงเรียนอยู่ทั้งสิ้น 346 แห่ง เป็นโรงเรียนของ กทม. 261 แห่ง ที่เหลือคือโรงเรียนสังกัด สพฐ. และเอกชน โดยตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.65 ผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งการให้เพิ่มเทศกิจ School Care ให้ครบทุกโรงเรียนในสังกัด กทม. (437 แห่ง) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร ดูแลความปลอดภัยเวลานักเรียนข้ามถนน ส่วนเรื่องหมวกกันน็อก กทม.ได้รับความร่วมมือจากสมาคมประกันวินาศภัย และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สนับสนุนหมวกกันน็อกสำหรับนักเรียนในสังกัด กทม.ประมาณ 120,000 ใบ ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบให้เด็กอยากใส่
  • พื้นผิวการจราจร กทม.ได้ใช้วิธีการประสานงานหลายภาคส่วน อาทิ บริเวณถนนพระราม 3 ถนนวิทยุ ฯลฯ ได้ประสานการไฟฟ้านครหลวง เปลี่ยนแผ่นฝาบ่อพักสายไฟฟ้าใต้ดินให้ใหญ่ขึ้น เรียบขึ้น ขณะเดียวกันได้มีการเร่งรัดการก่อสร้างและคืนพื้นผิวการจราจร เช่น แยกลำสาลี ท่าพระ เป็นต้น ส่วนการพัฒนาทางเท้าได้มีการสำรวจไว้แล้ว และยังรับปัญหาเพิ่มเติมผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่อเร่งแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดและรวดเร็ว
  • การจัดระเบียบสายไฟ-สายสื่อสาร ล่าสุดได้มีการพูดคุยกับ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจัดระเบียบสายตายหรือสายที่ไม่ได้ใช้งานออก ตั้งเป้าปีแรกที่ 800 กม. และให้คณะผู้บริหารติดตามอย่างใกล้ชิด
  • หาบเร่-แผงลอย และ Hawker Center ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหลายมิติ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องการจัดระเบียบเมือง เดิมมีหาบเร่-แผงลอย 55 จุดที่ประกาศอย่างถูกกฎหมาย บชน.เห็นชอบเพิ่มอีก 31 จุด อยู่ระหว่างเสนอ บชน.ทบทวนให้ความเห็นชอบ 9 จุด นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนให้สำนักงานเขตสำรวจพื้นที่การค้าเพิ่มเติม จากการสำรวจพบว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ 198 จุด เป็นพื้นเอกชน/สถานที่ราชการ/หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 124 จุด โดยนโยบายมีจุดมุ่งหมายให้ชาวบ้าน ผู้ประกอบการรายเล็ก มีพื้นที่ทำมาหากิน และจัดระเบียบผู้ค้าที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ให้มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง
  • กทม.ได้มีมาตรการลดราคาค่าเช่าแผงค้าของสำนักงานตลาด กทม. และปรับลดดอกเบี้ยของสำนักงาน สถานธนานุบาล (โรงรับจำนำของ กทม.) โดยลดค่าเช่าแผง 50% เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.65) ในตลาด กทม. 12 แห่ง และลดดอกเบี้ยโรงรับจำนำ กทม. ตามราคากู้ยืม
  • สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งคณะกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ประชุมหารือล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ค.65 เรื่องสัญญาจ้างเดินรถและข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นสัญญาสัมปทานและค่าโดยสาร สรุปผลการหารือดังนี้ 1.สัญญาการเดินรถส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง บอร์ดมีมติให้เริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่เดือน ส.ค.65 เพื่อนำรายได้มาจ่ายค่าดอกเบี้ยและค่าจ้างเอกชนเดินรถ 2.การเปิดเผยสัญญาสัมปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้สามารถพิจารณาค่าเดินรถที่เหมาะสมได้ต่อไป

ความโปร่งใส คือการเปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบการทำงาน และความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ

โดยเปิดเผยร่างงบประมาณให้ทุกคนได้เห็น โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ กทม. official.bangkok.go.th ซึ่งจะเห็นร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 79,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา กทม.

การประสานงานความร่วมมือ

ได้มีการร่วมมือกับภาครัฐอย่างน้อย 29 หน่วยงาน ภาคเอกชนอย่างน้อย 15 หน่วยงาน ถ้าการศึกษา/วิจัยอย่างน้อย 8 หน่วยงาน ภาคประชาสังคมอย่างน้อย 5 หน่วยงาน และต่างประเทศอย่างน้อย 14 ประเทศ อาทิ การร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นต้น เพื่อให้ทุกโครงการมีความโปร่งใส

ตัวอย่างเรื่องหนึ่งคือ ต้นไม้ล้านต้น กทม.ตั้งเป้าว่าสิ้นปีจะได้ 1 ล้านต้น ขณะนี้ผ่านไป 1 เดือน ได้ความร่วมมือ 1.3 ล้านแล้ว คือได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนอย่างล้นหลาม สำหรับผู้ว่าฯ สัญจรก็เช่นเดียวกัน การที่ผู้ว่าฯ สัญจรอยู่ในการประสานงาน เพราะเวลาลงพื้นที่ต่างๆ ผู้ว่าฯ จะไปติดตามงาน ไปประสาน มีปัญหาอะไรก็ขอความช่วยเหลือ แล้วก็ไปลงชุมชนต่อ โดยลงไปแล้ว 3 เขต และตั้งเป้าว่าอย่างน้อยๆ 1 สัปดาห์ต้องลง 1 เขต เพราะฉะนั้นคิดว่าจะครบ 50 เขต ในเร็วๆ นี้

อีกตัวอย่างคือ ทราฟฟี่ฟองดูว์ ซึ่งเป็นการประสานงานเหมือนกัน โดยข้อมูลประจำเดือน มิ.ย.65 เฉลี่ย 1 วันมีคนกรุงเทพฯ รายงานปัญหา 2,025 เรื่อง แต่ข้อมูลก่อนวันที่ 1 มิ.ย.65 มีการรายงานเล็กน้อยเท่านั้นประมาณหลักพัน ซึ่ง กทม.ได้รับรายงานปัญหาเพิ่มสูงขึ้นกว่า 54.5 เท่า

โฆษก กทม. กล่าวว่า นี่คือเรื่องดีที่กำลังแสดงให้เห็นว่าประชาชนกำลังให้ความสนใจกับเมือง ประชาชนกำลังเชื่อมั่นว่ารายงานปัญหาไปแล้วจะได้รับการแก้ไข สำหรับข้อมูลที่คนกรุงเทพฯ ร้องเรียนมากที่สุด คือ

อันดับที่ 1 เรื่องถนน 12,264 เรื่อง อาทิ ถนนไม่เรียบ ถนนพัง ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ

อันดับที่ 2 เรื่องทางเท้า 4,061 เรื่อง ฟุตบาทชำรุด ฟุตบาทพัง ฟุตบาทไม่เรียบ

อันดับที่ 3-5 คือเรื่องแสงสว่าง 3,231 เรื่อง ขยะ 2,559 เรื่อง และน้ำท่วม 2,389 เรื่อง ตามลำดับ

“งานทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้า กทม.ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ปัญหาจะถูกแก้ได้ ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือกัน เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนต่อไป”

นายเอกวรัญญู กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top