ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจและทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ที่อนุญาตให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างค่อยเป็นค่อยไป และให้ความสำคัญต่อการมีธรรมาภิบาลที่ดี มีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ มีเงินกองทุนเข้มแข็ง มีการดูแลความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงภายในกลุ่ม และคุ้มครองลูกค้าให้ได้รับบริการที่เป็นธรรม
สำหรับร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ บริษัทแม่ บริษัทลูก และบริษัทร่วมทุกแห่งของธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มธุรกิจการเงิน ได้แก่
1. ขอบเขตการประกอบธุรกิจ โดยธนาคารพาณิชย์ ไม่อนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อป้องกันผลกระทบต่อฐานะการดำเนินงานอันอาจส่งผลกระทบต่อเงินฝากของประชาชน และรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รวมถึงเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน
ส่วนบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินหากต้องการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลต้องให้บริษัทแม่ขออนุญาตต่อ ธปท.เป็นรายกรณี ได้แก่ ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือธุรกิจที่มีลักษณะเดียวกันในต่างประเทศ และ ธุรกิจที่มีธุรกิจหลัก (core business/main activities) เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นใดที่ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ
2.ขอบเขตการทำธุรกรรม
- บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน, ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล, บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต สามารถออกและถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลได้ตามที่หน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะกำหนด
- ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน สามารถออกและถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือคุณภาพในการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้า โดยให้บริษัทแม่ขออนุญาตต่อ ธปท.เป็นรายกรณี
ยกเว้น บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) สามารถถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเทียบเคียงได้กับหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุน เพื่อสนับสนุนกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หรือธุรกิจ FinTech ตามหลักการและเหตุผลเดิมของธุรกิจ VC
- ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน สามารถลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือใบทรัสต์ของกองทรัสต์ที่มีนโยบายการลงทุนบางส่วนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ แต่ห้ามลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือใบทรัสต์ของกองทรัสต์ที่มีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหลัก
3.การกำกับดูแลการบริหารจัดการความเสี่ยง ได้จำกัดปริมาณการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Related Business Limit) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ ต้องจำกัดปริมาณในรายการดังต่อไปนี้ รวมกันไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์
- 1) การถือหรือมีหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งในและนอกกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ทั้งกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นบริษัทดังกล่าวโดยทางตรงหรือถือหุ้นผ่านบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์
- 2) การให้สินเชื่อ ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ทั้งโดยทางตรงหรือผ่านบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
ด้านบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ต้องจำกัดปริมาณการถือหรือมีหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งในและนอกกลุ่มธุรกิจทางการเงินรวมกันไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนของกลุ่ม โดยหากถือหรือมีหุ้นเกินอัตราส่วนดังกล่าว ให้หักส่วนที่เกินอัตราส่วนดังกล่าวออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common equity tier 1: CET1) ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินเต็มจำนวน
4.การดำรงเงินกองทุน
- กรณีธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินมีฐานะการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ให้หักมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือครองออกจากเงินกองทุน CET1 เต็มจำนวน โดยสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศให้หักมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือครองดังกล่าวออกจากเงินกองทุนทั้งสิ้นของสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเต็มจำนวน
และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบธุรกิจ VC ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเทียบเคียงได้กับหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนตาม ให้หักมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือครองออกจากเงินกองทุน CET1 ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินเต็มจำนวน
- กรณีธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือใบทรัสต์ของกองทรัสต์ที่มีนโยบายการลงทุนบางส่วนในสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินเลือกปฏิบัติ ดังนี้
1) พิจารณาจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลตามสัดส่วนจริง (วิธี Look-through) และให้หักมูลค่าเงินลงทุนในหน่วยลงทุนหรือใบทรัสต์ตามสัดส่วนมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของกองทุนรวมหรือกองทรัสต์ ออกจากเงินกองทุน CET1 ของธนาคารพาณิชย์หรือของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน แล้วแต่กรณี เต็มจำนวน ทั้งนี้ ต้องสามารถแยกสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทในแต่ละวันได
2) พิจารณาจากนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมหรือกองทรัสต์ (Investment mandate) โดยให้พิจารณาว่านโยบายการลงทุนของกองทุนรวมหรือกองทรัสต์นั้นให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้เป็นสัดส่วนที่สูงสุดเท่าใด และหักมูลค่าเงินลงทุนในหน่วยลงทุนหรือใบทรัสต์ตามสัดส่วนมูลค่าการลงทุนสูงสุดที่กองทุนหรือกองทรัสต์นั้นสามารถลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ตามที่กำหนดในนโยบายการลงทุน ออกจากเงินกองทุน CET1 ของธนาคารพาณิชย์หรือของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน แล้วแต่กรณี เต็มจำนวน
3) กรณีบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินถือหรือมีหุ้นเกินอัตราส่วนที่กำหนด ให้หักส่วนที่เกินอัตราส่วนดังกล่าวออกจากเงินกองทุน CET1 ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินเต็มจำนวน
5. การคุ้มครองผู้ให้บริการ (Consumer Protection)
- กรณีลูกค้าทั่วไป ไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ให้บริการหรือดำเนินการที่อาจส่งผลให้ลูกค้าทั่วไป โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเปราะบางเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านช่องทางของธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เช่น โฆษณา เสนอขาย แนะนำ หรือให้รายละเอียดใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์หรือบริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้า และไม่อนุญาตให้ขอความยินยอมจากลูกค้าของตนเพื่อนำข้อมูลลูกค้าไปเปิดเผยให้แก่บริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดในทุกกรณี
- กรณีลูกค้าเป็นผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษที่ได้รับการประเมินแล้วว่าสามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินสามารถโฆษณา เสนอขาย แนะนำ หรือให้รายละเอียด
ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือผลิตภัณฑ์ในลักษณะกลุ่มประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล (Asset class) หรือบริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าดังกล่าวเพื่อไปใช้บริการกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ รวมถึงขอความยินยอมจากลูกค้าดังกล่าวเพื่อเปิดเผยข้อมูลให้กับบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดได้แต่ไม่อนุญาตสำหรับผลิตภัณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัลรายตัว
ทั้งนี้ ธปท. ขอรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากสาธารณชนต่อร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 บน BOT website หรืออีเมล [email protected] โดย ธปท. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะมาพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่อไป
พร้อมกันนั้น ธปท.ยังเปิดเผยว่า ตามที่ได้ออกแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (แนวนโยบาย Financial Landscape) ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรม และการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงิน รวมทั้งสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงใหม่ ๆ ได้อย่างเหมาะสม โดย ธปท. ได้สื่อสารแนวทางการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ (กลุ่ม ธพ.) ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายภายใต้ Financial Landscape ข้างต้นแล้ว นั้น
ในครั้งนี้ ธปท. ได้จัดทำเอกสารทิศทางและแนวนโยบาย (directional paper) ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำเสนอรายละเอียด ดังนี้
- (1) หลักคิดของการกำกับดูแลที่คำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างประโยชน์และความเสี่ยงในบริบทของไทย
- (2) เป้าหมายและแนวทางกำกับดูแลที่เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจให้กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และสามารถยกระดับการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับความเสี่ยงได้ทันการณ์
- (3) ความคาดหวังจากแนวทางการกำกับดูแลนี้ ที่ต้องการให้ระบบเศรษฐกิจการเงินได้รับประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลูกค้าได้รับบริการที่ตรงความต้องการยิ่งขึ้น และได้รับความคุ้มครองเพียงพอ ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์สามารถปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลง และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน มีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 65)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, สินทรัพย์ดิจิทัล, เศรษฐกิจดิจิทัล