![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2022/07/20220707_canva_ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค-1024x576.png)
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมิ.ย.65 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.6 จากเดือนพ.ค.65 อยู่ที่ระดับ 40.2
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 35.7 จาก 34.3 ในเดือนพ.ค., ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 39.2 จาก 37.8 ในเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 49.8 จาก 48.5 ในเดือนพ.ค.
![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2022/07/20220707_IQN_ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมิ.ย..jpg)
สำหรับปัจจัยบวกที่หนุนดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ, การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของทั้งโลกเพิ่มขึ้นเป็นรูปธรรม, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, กนง. ปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 65 เป็น 3.3% จากเดิม 3.2%, การส่งออกในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 10.47% และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคยังกังวลการระบาดของไวรัสโควิด, ปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าแพง, ความกังวลเรื่องผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า และค่าเงินบาทอ่อนค่า
นางอุมากมล สุนทรรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. 65 ที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนพ.ค. เป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ต้นปี 65 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย และปัญหาค่าครองชีพสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถอยลง และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงครามรัสเซียยูเครน
“ต้องติดตามว่า จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อย และยาวนานเพียงใด ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 2.5-3.5% ในปีนี้”
นางอุมากมล ระบุ
อย่างไรก็ตาม หากความเชื่อมั่นยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยผู้บริโภคจะกลับมาบริโภคสินค้าและบริการอย่างโดดเด่นขึ้นในปลายไตรมาสที่ 3 ปีนี้เป็นต้นไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 65)
Tags: lifestyle, ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย