แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการหารือกลุ่มโรงกลั่นทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ บมจ. ไทยออยล์ (TOP) ,บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP), บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC), บมจ. เอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSO และบมจ. สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) เพื่อหาทางออกร่วมกันในการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วงวิกฤติราคาพลังงานที่สูงขึ้นว่า ได้มีแนวทางร่วมกันหลายแนวทาง ซึ่งได้เสนอไปยังคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาแล้ว รวมทั้งในระหว่างนี้ยังรอคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ว่าสามารถดำเนินการด้วยความถูกต้อง ตามกฎกติกาหรือไม่ นอกจากนี้ ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงค่าการกลั่นที่บางกลุ่มอ้างอิงตัวเลขที่มากเกินไป
สำหรับแนวทางนั้นคงต้อรอให้ กบน.เป็นผู้พิจารณาว่าจะเลือกแนวทางใด รวมทั้งต้องรอคำตอบด้านข้อกฎหมายที่ชัดเจนจากกฤษฎีกาก่อน คาดว่าหลังจากนั้นจะเรียกประชุมกลุ่มโรงกลั่นอีกครั้ง
ทั้งนี้หาก กบน.เลือกแนวทางโดยการใช้กฎหมาย ซึ่งทุกโรงกลั่นฯ ทั้งโรงกลั่นไทยและต่างชาติจะต้องปฏิบัติตาม แต่หากเลือกแนวทางขอความร่วมมือ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงกลั่นฯ ที่จะต้องไปหารือกับคณะกรรมการบริษัทว่าจะสามารถช่วยเหลือรัฐได้มากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลง ส่งผลค่าการกลั่นลดลง และโรงกลั่นฯ ยังต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ หรือไม่นั้น แหล่งข่าว ระบุว่า เรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กบน. แต่ส่วนตัวมองว่าอุตสาหกรรมที่จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางกองทุนน้ำมันฯ ที่ติดลบมากกว่า 1 แสนล้านบาท ก็มีโรงกลั่นฯ กับกลุ่มค้าปลีก ที่จะบรรเทาผลกระทบของประชาชนในระยะสั้นได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ค. 65)
Tags: กบน., กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, ราคาน้ำมัน, โรงกลั่น