องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประกาศรับรองการเป็นสมาชิกของฟินแลนด์และสวีเดนอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันอังคาร (5 ก.ค.) โดยปิดฉากความเป็นกลางทางทหารของทั้ง 2 ชาติลงอย่างสิ้นเชิง ภายหลังจากที่สามารถบรรลุดีลกับตุรกีได้ในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้ง ประวัติศาสตร์ของนาโต ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปนเมื่อสัปดาห์ก่อน
ในที่ประชุมมาดริด ซัมมิตนั้น นาโตไม่เพียงแต่เชิญสวีเดนและฟินแลนด์เข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ยังอนุมัติเอกสารแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ (Strategic Concept) ที่ยกสถานะรัสเซียเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของนาโต และระบุว่าจีนได้สร้างความท้าทายเป็นครั้งแรกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
In Focus สัปดาห์นี้ จะพาผู้อ่านไปเจาะท่าทีและอนาคตของนาโต หลังสวีเดนและฟินแลนด์ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ พร้อมจับตาทุกความเคลื่อนไหวล่าสุดจากรัสเซียและจีน และอนาคตหลังจากนี้
*นาโตรับรองฟินแลนด์-สวีเดน
“เป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่แท้จริง หาก 32 ชาติร่วมมือกัน เราจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นี้คือถ้อยแถลงที่หนักแน่นของนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ขณะยืนเคียงข้างรัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์และสวีเดน หลังจากสมาชิกนาโตร่วมลงนามเพื่อรับรองเอกสารการขอเข้าเป็นสมาชิกของ 2 ประเทศนอร์ดิกดังกล่าว
การลงนามรับรองเป็นไปตามข้อตกลงกับตุรกีในการประชุมสุดยอดนาโตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งตุรกีได้ยกเลิกอำนาจยับยั้งหรือวีโต้ (veto) สำหรับ 2 ประเทศนอร์ดิกดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ ตุรกีได้ออกตัวขัดขวางไม่ให้สองประเทศนี้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต เพราะเห็นว่าทั้งสองชาติหนุนหลังกองกำลังชาวเคิร์ดที่เป็นเครือข่ายของพรรคเคอร์ดิสถาน เวิร์คเกอร์ส พาร์ตี (PKK) ซึ่งตุรกีมองว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย
อย่างไรก็ตาม สวีเดนและฟินแลนด์รับปากจะยุติการสนับสนุนกลุ่มนักรบเคิร์ด ยกเลิกคำสั่งห้ามขายอาวุธให้กับตุรกี และส่งตัวนักรบเคิร์ดให้กับตุรกีในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน จึงเป็นเหตุผลให้ตุรกีเลิกคัดค้านสองประเทศ
การลงนามรับรองนี้ทำให้สวีเดนและฟินแลนด์สามารถเข้าร่วมการประชุมของนาโต และเข้าถึงข้อมูลข่าวกรองได้มากขึ้น แต่จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 5 ของนาโตที่ระบุว่า การโจมตีต่อประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งถือเป็นการโจมตีต่อนาโตทั้งหมด
ส่วนกระบวนการให้สัตยาบันรับรองการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการนั้น ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาของประเทศสมาชิกนาโต 30 ชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจใช้เวลานานถึง 1 ปี
*รัสเซีย : ภัยคุกคามโดยตรง
“สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ทำลายสันติภาพในยุโรป และสร้างวิกฤตความมั่นคงที่ร้ายแรงที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2” นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตกล่าวในระหว่างการประชุมสุดยอดนาโตซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28-30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ซึ่งเผยให้เห็นถึงอุณหภูมิการเมืองที่ตึงเครียดระหว่างกลุ่มนาโตและรัสเซีย
ที่ประชุมนาโตได้อนุมัติเอกสารแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ (Strategic Concept) จำนวน 11 หน้า ซึ่งอธิบายความคิดเห็นและแผนการรับมือภัยคุกคามที่ชาติตะวันตกกำลังเผชิญ โดยตอกย้ำว่ารัสเซียเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของพันธมิตร โดยนาโตระบุว่า “รัสเซียเป็นภัยคุกคามโดยตรงที่สำคัญที่สุดต่อความมั่นคงของฝ่ายพันธมิตรและต่อสันติภาพและเสถียรภาพในเขตยูโร-แอตแลนติก รัสเซียกำลังพยายามสร้างอิทธิพลและการควบคุมโดยตรงผ่านการบีบบังคับ บ่อนทำลาย รุกราน และการผนวกดินแดน”
นอกจากนี้ นาโตเสริมว่า กองกำลังทางทหารของรัสเซีย ซึ่งกระจายอยู่ในภูมิภาคบอลติก ทะเลดำ และเมดิเตอร์เรเนียน ผนวกกับกองทัพของเบลารุส ล้วนท้าทายต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของนาโตเช่นกัน
สำหรับการรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซียนั้น นาโตยังได้ตกลงเพิ่มการสนับสนุนให้แก่ยูเครนเพื่อป้องกันการโจมตีจากรัสเซีย โดยนาโตจะเพิ่มจำนวนทหารในการเตรียมความพร้อมระดับสูงขึ้นมากกว่า 7 เท่าเป็น 300,000 นาย นาโตจะมีกองกำลังพร้อมรบมากกว่า 300,000 นาย เมื่อเทียบกับกองกำลังตอบโต้ฉับพลัน (NATO Response Force – NRF) จำนวน 40,000 นายที่มีอยู่ในปัจจุบัน
กองกำลังรูปแบบใหม่นี้จะถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแทนที่กองกำลัง NRF โดยจะมีจำนวนทหารที่มากกว่าและความพร้อมรบสูงกว่าอยู่ทั่วทั้งอาณาเขตไม่ว่าจะเป็นทางบก ทะเล อากาศ และทางไซเบอร์ ซึ่งจะถูกกำหนดล่วงหน้าให้สอดคล้องกับแผนการเฉพาะสำหรับการป้องกันชาติพันธมิตร
เท่านั้นยังไม่พอ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐยังประกาศการเพิ่มกำลังทหารสหรัฐในยุโรป รวมทั้งจัดตั้งฐานทัพถาวรของสหรัฐในโปแลนด์ ส่งเรือพิฆาตอีก 2 ลำไปประจำการที่เมืองโรตา ประเทศสเปน และส่งเครื่องบินรบเอฟ-35 อีกสองลำไปประจำที่อังกฤษ
*จีน : ความท้าทายใหม่ของนาโต
นอกจากรัสเซียแล้ว เอกสารแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ยังระบุให้จีนเป็น “ความท้าทายเชิงระบบ” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงความท้าทายจากจีนที่มีต่อความมั่นคงของนาโต โดยเอกสารระบุว่า ความทะเยอทะยานและนโยบายคุกคามของจีนนั้นท้าทายผลประโยชน์ ความมั่นคง และค่านิยมของนาโต ตลอดจนปฏิบัติการทางไซเบอร์และไฮบริดที่มุ่งร้ายของจีน รวมถึงถ้อยคำเชิงปลุกปั่น และการบิดเบือนข้อมูลล้วนมุ่งโจมตีและบ่อนทำลายเสถียรภาพของชาติพันธมิตร
แม้ว่าจีนไม่ได้สนับสนุนสงครามรัสเซียในด้านการทหาร แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้กล่าวสนับสนุนรัสเซียด้านอำนาจอธิปไตยและความมั่นคง อีกทั้งยังคงเดินหน้าซื้อน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินของรัสเซียจำนวนมาก ดังนั้น การเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและรัสเซียได้สร้างกังวลต่อนาโต สอดคล้องกับที่เอกสารระบุว่า “ความพยายามที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกันในการทำลายระเบียบระหว่างประเทศที่อิงตามกฎเกณฑ์นั้นขัดต่อค่านิยมและผลประโยชน์ของเรา”
นอกจากด้านการเมือง นาโตยังแสดงความกังวลด้านเศรษฐกิจ เพราะจีนพยายามครอบงำภาคส่วนเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่สำคัญ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ วัสดุเชิงยุทธศาสตร์ และห่วงโซ่อุปทาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเอ่ยถึงความท้าทายจากจีนต่อผลประโยชน์ของนาโตในเอกสารทางการที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นมีนัยสำคัญมาก สอดคล้องกับที่นายฉี ยินฮอง อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเหรินหมินแสดงความเห็นว่า “นี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นาโตตีกรอบว่าจีนเป็นปฏิปักษ์ในระดับโลก ไม่เพียงแต่ระดับแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเท่านั้น และยังเขียนลงในเอกสารที่เป็นทางการอีกด้วย”
*รัสเซียเมิน จีนไม่ปลื้มหนัก
ทันทีที่มีรายงานว่าสวีเดนและฟินแลนด์เตรียมเข้าเป็นสมาชิกนาโตแบบด่วนพิเศษ ปธน.ปูตินเปิดเผยผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลรัสเซียในวันพุธ (29 มิ.ย.) ว่า รัสเซียจะดำเนินการตอบโต้ หากนาโตส่งกองกำลังและวางโครงสร้างพื้นฐานใน 2 ประเทศนี้
ปธน.ปูตินระบุว่า กับสวีเดนและฟินแลนด์นั้น เราไม่ได้มีปัญหาแบบเดียวกับที่เรามีกับยูเครน ถ้าอยากเป็นสมาชิกนาโตก็เชิญเลย พร้อมเสริมว่า “แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าก่อนหน้านี้ไม่มีภัยคุกคาม แต่ตอนนี้หากมีการส่งกองทหารและวางโครงสร้างพื้นฐานในสองประเทศนั้นแล้ว เราจำเป็นต้องตอบโต้ และสร้างภัยคุกคามในลักษณะเดียวกันต่อดินแดนที่เป็นต้นทางของภัยคุกคามที่ส่งมาถึงเรา”
ตัวมัส ฟอร์สเบิร์ก อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยทามเปเรกล่าวว่า ถ้อยคำตอบโต้ของปธน.ปูตินเน้นย้ำไปที่ความเป็นไปได้ของการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารของนาโตในฟินแลนด์และสวีเดน มากกว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต
สำหรับฝั่งจีนนั้น นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า เอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาที่ละเลยข้อเท็จจริง การกล่าวหาว่าจีนเป็นภัยคุกคามนั้นไร้สาระอย่างสิ้นเชิง พร้อมเรียกร้องให้นาโตหยุดแนวคิดสมัยสงครามเย็นที่ล้าสมัย และหยุดการกระทำที่อันตรายที่จะทำลายยุโรปและเอเชียแปซิฟิก
*ส่องมุมมองผู้เชี่ยวชาญ
การขยายตัวของนาโตเป็นที่ถกเถียงกันไม่น้อย ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งมองว่าการขยายตัวของนาโตและการรับมือกับวิกฤตยูเครนจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และการเมืองครั้งใหญ่ แม้กระทั่งความวุ่นวายในยุโรปเมื่อเวลาผ่านไป
ยาน โอเบิร์ก ผู้อำนวยการมูลนิธิข้ามชาติเพื่อสันติภาพและการศึกษาวิจัยอนาคตแสดงความเห็นว่า “การขยายตัวของนาโตและปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรงของรัสเซียจะส่งผลให้เกิดพรมแดนที่ยืดยาวและเป็นปรปักษ์ ซึ่งในที่สุดอาจจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้ง”
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า ท่าทีของนาโตไม่ต่างจากเครื่องมือของสหรัฐในการรักษาอำนาจ สอดคล้องกับกิลเบิร์ต อาชคาร์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วิทยาลัยบูรพศึกษาและการศึกษาแอฟริกาแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งระบุว่า “นาโตถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาอำนาจนำของสหรัฐมาโดยตลอด สหรัฐกำลังพยายามผลักดันให้ยุโรปมีส่วนร่วมในนโยบายของตนเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งมองว่าเอกสารแนวความคิดทางยุทธศาสตร์เสมือนคำเตือนจากนาโต โดยสเตซี่ กอดดาร์ด อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยเวลล์สลีย์ระบุว่า เอกสารฉบับนี้แสดงถึงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในเชิงความเป็นหนึ่งเดียวกันและความเร่งด่วนของนาโต ซึ่งเหมือนเป็นคำเตือนว่าการเป็นพันธมิตรระหว่างจีนและรัสเซียที่ลึกซึ้งนั้นท้าทายต่อกฎระเบียบเดิม
อิลยาส เคมาโลกู อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาร์มะรากล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากเอกสารฉบับใหม่ของนาโต ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จนถึงปี 2573 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-นาโตจะดำเนินต่อไปในยุโรปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แม้ว่ารัสเซียและตะวันตกอาจไม่ได้เผชิญหน้ากันโดยตรงด้วยวิธีการทางทหาร แต่พวกเขาจะต้องทำสงครามกับประเทศที่ 3 ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของยูเครน
นับจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่า อนาคตและบทบาทของนาโตจะดำเนินไปในรูปแบบใด จะมีสมาชิกยุโรปชาติอื่นกระโดดเข้าร่วมนาโตเหมือนกับสวีเดนและฟินแลนด์อีกหรือไม่ และจะเกิดการปะทะกับรัสเซียหรือจีนในรูปแบบใด เราคงต้องติดตามกันต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ค. 65)
Tags: In Focus, จีน, นาโต, ฟินแลนด์, รัสเซีย, สวีเดน