นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงทิศทางการโหวตวาระ 2 ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ….ในประเด็นการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า หากหาร 500 ชนะการเมืองก็จะพลิกโฉม แต่ถ้าหาร 100 ชนะ กระแสแลนด์สไลด์จะสูงขึ้น และรัฐบาลก็จะอ่อนลง โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐที่มีการแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ แต่หากหาร 500 ชนะ คือ การส่งสัญญาณว่า พรรคร่วมรัฐบาลเอาจริง และพรรคพลังประชารัฐก็จะมีความมั่นคง ส่วนพรรคเล็กในอนาคต ก็คงมีไม่มากเหมือนปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเหลือ 6-7 พรรค เท่านั้น ไม่ใช่ 30-40 พรรค อย่างที่เขาว่ากัน
นพ.ระวี กล่าวว่า ขออธิบายว่าวิธีการคำนวณหารด้วย 100 และหารด้วย 500 นั้นมีความแตกต่างกัน การหารด้วย 100 คือ การคิดเฉพาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเอาคะแนนทั้งประเทศมาหารด้วย 100 จะเป็นคะแนนประมาณ 370,000 คะแนน/ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน แต่การหาร 500 นั้นจะคิด ส.ส.พึงมีบวกกับส.ส.บัญชีรายชื่อ และนำคะแนนพรรคการเมืองทั่วประเทศมาหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งสภาฯ คือ 500 ออกมาเป็นคะแนนเฉลี่ย/ส.ส.พึงมี 1 ราย แต่ยังไม่ใช่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจำเป็นจะต้องคงมาตรา 93 และมาตรา 94 อยู่ ที่ผ่านมาพรรคขนาดเล็กและพรรคขนาดกลางร่วมมือกันมาตลอด
“คิดว่ามีแนวโน้มที่ดีในการหารด้วย 500 แต่วันนี้ไม่ใช่ตนจะแถลงประกาศชัยชนะ เพราะต้องรอให้ผ่านการโหวตวาระ 3 ไปก่อน เนื่องจากมีเกมการเมืองที่จะไม่ให้มาตรา 23 เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมรัฐสภาวันนี้ ดังนั้นจึงต้องรอดูว่า วันนี้จะมีเวลาพอหรือจะมีการเตะถ่วงอะไรหรือไม่” นพ.ระวี กล่าว
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปลี่ยนใจมาสนับสนุนการหารด้วย 500 นั้น ไม่ใช่การต่อรองของกลุ่มพรรคเล็ก เพราะที่เข้าไปพบ พล.อ.ประวิตร เพื่ออธิบายว่า การหารด้วย 100 ก็ผิดรัฐธรรมนูญเช่นกัน ซึ่ง พล.อ.ประวิตรก็ได้เข้าใจถึงจุดนี้ สำหรับท่าทีการโหวตของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ตนคิดว่า ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยสนับสนุนการหารด้วย 100 ก็จะเปิดฟรีโหวต เพื่อให้คนที่เคยออกตัวแรงสนับสนุนการหารด้วย 100 ได้ใช้สิทธิ์โหวตอย่างเต็มที่
ส่วนกรณีมีข่าวการเตะถ่วงการพิจารณาในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น นพ.ระวี กล่าวว่า เมื่อคืนก็มีข่าวมาอย่างนั้น ซึ่งก็ไม่เป็นอะไร ทุกอย่างต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย การดึงเกมเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนการแข่งกีฬา ซึ่งเชื่อว่า คงดึงเกมไม่กี่วัน ทางรัฐสภาต้องหาวันประชุมในวันอื่น ซึ่งเป็นการเบรคเกมเสิร์ฟตามปกติ หากประชุมช่วงปลายเดือน ก.ค.คงคิดว่า ทันใช้ในการเลือกตั้ง แต่จะมีการลงคะแนนอย่างไรนั้นต้องดูในวันโหวตจริง
นพ.ระวี กล่าวว่า กรณีที่ฝ่ายโหวตแพ้อาจจะมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น หลังจากจบวาระ 3 ตามระเบียบสภาฯจะต้องส่งเรื่องให้กับ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ 1.ศาลรัฐธรรมนูญ 2.ศาลฎีกา และ 3.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งจะใช้เวลา 10 วัน เพื่อตอบว่าเห็นชอบหรือขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีองค์กรใดชี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ต้องส่งกลับมายังรัฐสภา เพื่อแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ถ้าไม่ขัดก็จะส่งให้รัฐสภา เพื่อส่งให้รัฐบาล และนายกรัฐมนตรีมีเวลา 5 วันก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งช่วง 5 วันนี้เป็นช่วงนาทีทองของฝ่ายที่โหวตแพ้มีสิทธิ์ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้นเชื่อว่าฝ่ายที่แพ้ไม่ว่าฝ่ายไหนคงจะมีการเตรียมการรองรับไว้แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ค. 65)
Tags: การเมือง, ระวี มาศฉมาดล