“โอกาสทางธุรกิจ” สำหรับการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า
คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 13 (จะนำมาใช้ในปี พ.ศ.2566-2570) เสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งหมุดหมายที่ 3 ของแผนพัฒนาฉบับที่ 13 ระบุให้ “ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก”
การจะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ซึ่งรวมถึงการมีจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เพียงพอจะตอบสนองต่อความต้องการของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งตัวชี้วัดที่ 3.3 ของแผนพัฒนาฉบับที่ 13 กำหนดว่าปัจจัยสนับสนุนประการหนึ่งคือการมี “จำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ/หัวจ่ายชาร์จเร็ว เพิ่มขึ้น 5,000 หัวจ่าย ภายในปี 2570”
ตัวชี้วัดที่ 3.3 ดังกล่าวเผยให้เห็นถึง “โอกาส” ทางธุรกิจในการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนมากขึ้น เมื่อมีอุปสงค์ก็มีอุปทาน อุปทานในที่นี้ได้แก่การให้จำหน่ายไฟฟ้าและการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่า “สถานีอัดประจุไฟฟ้า” สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน อธิบายถึง “รูปแบบการใช้งานสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า” ว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ การอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สาย สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ และการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สาย
ทั้งนี้ ไม่ว่ารูปแบบการใช้สถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นแบบใดย่อมขาด “ความสามารถในการจำหน่ายไฟฟ้า” ไม่ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะต้องทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าที่รับบริการนั้นได้รับการ “ชาร์จไฟฟ้า” นั่นเอง สถานีอัดประจุไฟฟ้าจึงต้อง “มี” ไฟฟ้าและสามารถ “จำหน่าย” ไฟฟ้าได้ หากสถานีไม่ได้เป็นสถานที่ที่ผลิตไฟฟ้าได้เอง (เช่น ไม่ได้เป็นโรงไฟฟ้าหรือมีระบบผลิตไฟฟ้าในตัวเอง) ผู้ประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าย่อมต้องมาทางที่จะ “รับหรือเข้าถึงไฟฟ้า” จากแหล่งอื่นให้ได้ คำถามคือ “จะไปเชื่อมเข้ากับระบบไฟฟ้าของใครเพื่อให้มีไฟฟ้าพร้อมให้บริการ” แล้วบุคคลที่ประสงค์จะประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีสิทธิเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าวหรือไม่ ? การเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายและสิทธิตามกฎหมาย
หากพิจารณาสถานีอัดประจุไฟฟ้าในมิติของการเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้แบ่งประเภทของสถานีอัดประจุไฟฟ้าเอาไว้เป็น
(1) สถานีอัดประจุไฟฟ้าโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Connected) จะมีลักษณะเป็นประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้า
(2) สถานีอัดประจุไฟฟ้าโดยใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Gird Connected) ร่วมกับแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้านอกระบบโครงข่ายจะมีลักษณะเป็นทั้งการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า
(3) สถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยใช้พลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Connected) และมีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าโดยใช้แบตเตอรี่จะมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้าโดยใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Gird Connected) ร่วมกับแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้านอกระบบโครงข่ายจะมีลักษณะเป็นทั้งการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และมีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าโดยใช้แบตเตอรี่ (โปรดดู คู่มือประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) (ธันวาคม พ.ศ. 2561))
ดังนั้น บุคคลที่ประสงค์จะประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าจึงย่อมต้องการ “เชื่อมต่อ” สถานีอัดประจุไฟฟ้าของตนเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้า เช่น ระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คำถามทางกฎหมายคือ การใช้และเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าวเป็น “สิทธิตามกฎหมาย” หรือเป็นเรื่องที่ กฟน. และ กฟภ. มีอิสระที่จะให้ผู้ประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าใช้และเชื่อมต่อสถานีอัดประจุไฟฟ้าของตนกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. ก็ได้ ?
การใช้และเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าเป็น “สิทธิ” ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 81 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ บัญญัติว่า “ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงาน (เช่น กฟน. และ กฟภ.) ต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่นใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานของตน ทั้งนี้ตามข้อกำหนดที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานประกาศกำหนด”
ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าระบบกฎหมายไทยมีส่วนในการสร้างปัจจัยสนับสนุนหมุดหมายที่ 3 ของแผนพัฒนาฉบับที่ 13 โดยในปัจจุบัน กฟน. ได้ออกข้อกำหนดการเชื่อมต่อและติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟน. (พ.ศ. 2560) ส่วน กฟภ. ได้ออกข้อกำหนดการเชื่อมต่อสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟภ. (พ.ศ. 2563)
อย่างไรก็ตาม กรณีมีข้อสังเกตว่าสิทธิในการใช้และเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานของผู้ประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้านั้นมิใช่สิทธิที่สามารถใช้ได้ปราศจากข้อจำกัด การใช้สิทธิดังกล่าวจะต้องไม่กระทบต่อความมั่นคง ความปลอดภัย และคุณภาพของระบบพลังงาน และไม่ทำให้ผู้ใช้พลังงานและส่วนรวมเสียประโยชน์นอกจากนี้ กฟน. และ กฟภ. ยังสามารถกำหนดหน้าที่ของผู้ใช้ระบบโครงข่าย เช่น ข้อกำหนดทางเทคนิค ณ จุดที่มีการใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน และหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ขอใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน *มีไฟฟ้าแล้ว “จำหน่ายไฟฟ้า” ได้หรือไม่ ?
เมื่อสามารถเข้าถึงไฟฟ้าที่จะสามารถนำมาให้บริการได้แล้ว คำถามถัดมาคือจะ “ขาย” ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าได้หรือไม่ และการขายดังกล่าวนี้จะต้องขออนุญาตหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใด ?
นอกจากจะรับรองสิทธิของผู้ประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าในการใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของบุคคลอื่นแล้ว พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ ยังทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานซึ่งรวมถึงการ “จำหน่ายไฟฟ้า” อีกด้วย ดังนั้น บุคคลที่ประสงค์จะจำหน่ายไฟฟ้าจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ
มาตรา 47 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ บัญญัติว่า การประกอบกิจการพลังงานไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ ต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผู้ประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าซึ่งจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า (ซึ่งมิใช่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า) จึงมีหน้าที่ต้องขอรับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งเป็นใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าประเภทหนึ่งตามข้อ 5(4) ของประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2551
นอกจากต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการขอรับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าการคิดต้นทุนเพื่อให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้านั้น ในกรณีที่ผู้ประกอบการจำหน่ายไฟฟ้าที่ได้จากระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. นั้นจะต้องคำนึงถึงต้นทุนที่เกิดจากการซื้อไฟฟ้ามากจาก กฟน. และ กฟภ. ด้วย
กฟน. ได้ออกประกาศเรื่อง อัตราค่าบริการสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Low Priority เพื่อดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และ กกพ. เพื่อประกาศอัตราค่าบริการสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Low Priority (เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564) หรือจนกว่าจะมีการประกาศอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ โดยกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Low Priority ซึ่งมีแรงดัน 69 กิโลโวลต์ขึ้นไป แรงดัน 12-24 กิโลโวลต์ แรงดันต่ำกว่า 12 กิโลโวลต์ โดยคิดค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Charge) 2.6369 (บาท/หน่วย) ทั้งช่วง Peak และ Off Peak และค่าบริการรายเดือนในอัตรา 312.24 (บาท/ราย/เดือน) ส่วนค่า ค่า Ft ให้เป็นไปตามอัตราที่ กกพ. เห็นชอบซึ่งจะมีการทบทวนทุก 4 เดือน
ส่วน กฟภ. ได้ออกประกาศเรื่อง อัตราค่าบริการสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้เงื่อนไขการบริหารจัดการแบบ Low Priority เพื่อดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อประกาศอัตราค่าบริการสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Low Priority ในช่วง เมษายน 2564 – มีนาคม 2566 กำหนดอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Charge) ค่าบริการรายเดือน ในอัตราเท่ากับของ กฟน.
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้เชื่อมต่อผิดเงื่อนไขการบริหารจัดการแบบ Low Priority กฟภ. จะคิดค่าพลังงานฟ้าในอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of use: TOU) กล่าวคือ กรณีแรงดัน 22-33 กิโลโวลต์ มีค่าพลังงาน (Energy Charge) มีค่าบริการ 5.1135 บาท/หน่วย ในช่วง Peak 2.6037 บาท/หน่วย โดยมีค่าบริการ 312.24 บาทต่อเดือน กรณีต่ำกว่า 22 กิโลโวต์ มีค่าพลังงาน (Energy Charge) มีค่าบริการ 5.7982 บาท/หน่วย ในช่วง Peak 2.6369 บาท/หน่วย โดยมีค่าบริการ 46.16 บาทต่อเดือน *การทำให้ปั๊มน้ำมันสามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นไปได้หรือไม่ ?
ก่อนที่จะ “จำหน่ายไฟฟ้า” ให้กับผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าได้นั้น ผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าย่อมต้องเตรียมสถานที่ให้พร้อม เช่น ดำเนินการก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ปลอดภัยและอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ “ปั๊มน้ำมัน” นั้นประสงค์ที่จะ “ขยายธุรกิจ” ของตนให้ครอบคลุมถึงการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าด้วย (เช่นกรณีถ้าสถานีให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีศักยภาพและสามารถคาดเห็นได้ว่าจะมีผู้ใช้งานยานยนต์สัญจรผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือไม่ได้สร้างสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้าขึ้นใหม่ แต่แปลงสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ให้บริการอยู่แล้วให้กลายเป็นปั๊มไฟฟ้าด้วย คำถามคือ มีสิทธิทำได้ตามกฎหมายหรือไม่ ?
ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 บุคคลที่ประสงค์จะประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันประเภท ก (สถานีบริการน้ำมันที่ให้บริการแก่ยานพาหนะทางบกซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ติดเขตทางหลวง ถนนสาธารณะ หรือถนนส่วนบุคคล ที่มีขนาดความกว้างตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และเก็บน้ำมันไว้ในถังเก็บน้ำมันใต้พื้นดิน) มีหน้าที่ต้องขอรับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานมอบหมายเนื่องจากเป็นกิจการควบคุมประเภทที่ 3 ตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาตและอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2556
หากการให้บริการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเดิมนั้นไม่ได้มีการให้บริการจำน่ายไฟฟ้า การดำเนินการให้สถานีให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้ด้วยย่อมเป็นกรณีที่ผู้รับใบอนุญาต ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารอันเกี่ยวกับการประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 กรณีนี้ บุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันประเภท ก อยู่แล้วจะต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานมอบหมายตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงฯ
อย่างไรก็ตาม การได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงฯ นั้นไม่ได้ทำให้บุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันประเภท ก (ซึ่งได้รับอนุญาตให้การดำเนินการให้สถานีให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้ด้วย) กลายเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้าและดำเนินการก่อสร้างตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ
นอกจากจะต้องขอรับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าตามที่อธิบายมาแล้ว หากการทำให้ “ปั๊มน้ำมัน” สามารถ “จำหน่ายไฟฟ้า” ได้นั้นต้องมีการปลูกสร้างอาคาร หรือการตั้งโรงงานเพื่อประกอบกิจการพลังงานต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน บุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันประเภท ก ซึ่งประสงค์จะจำหน่ายไฟฟ้ามีหน้าที่ต้องขอรับใบอนุญาตตามกฎหมายเหล่านี้จาก กกพ. ตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ โดย กกพ. ต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่าง ๆ ดังกล่าว และหน่วยงานดังกล่าวต้องแจ้งความเห็นพร้อมทั้งจำนวนค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บตามกฎหมายนั้น ๆ ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานทราบด้วย
กล่าวได้ว่า ระบบใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ และระบบใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงฯ นั้นไม่ห้ามการทำให้ “ปั๊มน้ำมัน” สามารถ “จำหน่ายไฟฟ้า” ให้ยานยนต์ไฟฟ้าได้ เพียงแต่ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั้งสองฉบับ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายทางกฎหมายอาจเกิดขึ้นว่ามาตรฐานด้านความปลอดภัยซึ่งสามารถรองรับทั้งการติดตั้งและใช้งานของอุปกรณ์ สิ่งติดตั้ง สิ่งปลูกสร้างของทั้ง “สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง” และ “สถานีอัดประจุไฟฟ้า” ซึ่งถูกติดตั้งและใช้งานในสถานีบริการเดียวกันควรจะมีหลักเกณฑ์และรายละเอียดอย่างไร และหากหลักเกณฑ์และรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยดังกล่าวถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายในอนาคตจะส่งผลต่อต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ประกอบกิจการปั๊มน้ำมันที่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้ยานยนต์ไฟฟ้าได้ด้วยอย่างไร
อ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ
ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law) หลักสูตรนานาชาติ
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ค. 65)
Tags: ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ, พลังงาน, รถยนต์ไฟฟ้า