น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. การจัดทำประมวลกฎหมายและกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโดยสะดวก พ.ศ. …โดยมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมกฎหมายและกฎในเรื่องเดียวกัน ที่เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกันเข้าไว้ด้วยกัน จัดทำหมวดหมู่บทบัญญัติให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และเป็นเหตุเป็นผล โดยไม่มีการแก้ไขหลักการ เนื้อความ หรือสาระสำคัญเดิม และใช้บังคับแทนกฎหมายและกฎที่นำมารวบรวมนั้น
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวก และสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายรวม 3 คณะ ประกอบด้วย
1. คณะกรรมการนโยบายการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำแผนงาน หรือโครงการเกี่ยวกับการรวบรวมกฎหมายและการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขอบเขตของเนื้อหาในการรวมรวม ตลอดจนพิจารณาเห็นชอบร่างประมวลกฎหมายและกฎที่ดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอต่อ ครม.
2. คณะกรรมการรวบรวมกฎหมายคณะหนึ่งหรือหลายคณะ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ แต่งตั้ง มีอำนาจและหน้าที่ในการตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์กฎหมายหรือกฎที่เป็นเรื่องเดียวกัน เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกันเพื่อดำเนินการรวบรวมไว้ในแหล่งเดียวกัน
3. คณะกรรมการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎคณะหนึ่งหรือหลายคณะซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ แต่งตั้ง มีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดขอบเขตเนื้อหาของประมวลกฎหมายและกฎ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และจัดทำประมวลกฎหมายและกฎตามขอบเขตเนื้อหาที่คณะกรรมการเห็นชอบ
สำหรับขั้นตอนดำเนินการ เมื่อคณะกรรมการนโยบายเห็นชอบกับร่างประมวลกฎหมายและกฎดังกล่าว ให้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายและกฎต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ แล้วจึงเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายและกฎต่อไป และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ โดยมีผลเป็นการยกเลิกบทบัญญัติของกฎหมายและกฎที่นำมารวบรวมในประมวลกฎหมายและกฎนั้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 65)
Tags: ประชุมครม., ประมวลกฎหมาย, มติคณะรัฐมนตรี, ไตรศุลี ไตรสรณกุล