นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ล่าสุด สธ. เตรียมเสนอขอลดจำนวนวันในกระบวนการรักษาเป็น 5+5 วัน โดยใน 5 วันหลัง เป็นการสังเกตอาการ และสามารถออกไปข้างนอกได้ โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 8 ก.ค. นี้
ทั้งนี้ การที่จะประกาศเป็นโรคประจำถิ่น จะต้องให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศอย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องพิจารณาทั้งทางการแพทย์ สาธารณสุข และกฎหมาย ที่ต้องดูควบคู่กันให้รอบคอบ โดยเฉพาะการเยียวยา อย่างไรก็ดี เชื่อว่าภายหลังจากการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น การใช้ชีวิตของประชาชนก็ยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร
นพ.โอภาส กล่าวว่า ในช่วงนี้ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มาจาก 2 ปัจจัย คือ 1. จากกิจกรรม และงานเลี้ยงสังสรรค์ และ 2. จากเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ BA.4 และ BA.5 ที่ติดเชื้อเร็วขึ้นแต่ความรุนแรงไม่มาก ซึ่งภาพรวมของประเทศขณะนี้ ผู้ป่วยหนักไม่ได้เพิ่มมากขึ้น และเตียงรองรับผู้ป่วยยังมีเพียงพอ
ส่วนกรณีที่ สธ. ออกเอกสารประกาศแจ้งเตือนทั่วประเทศ ให้เตรียมความพร้อมในการรับมือโควิดระลอกใหม่นั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นการแจ้งเตือน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีการเตรียมพร้อมไว้ตามมาตรการปกติ ขณะที่กระทรวงมหาดไทยเองก็ได้มีการออกประกาศเตือนเช่นกัน
นพ.โอภาส กล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ว่า รักษาอาการโควิด-19 และกักตัวไม่ครบ แต่ออกมาทำงานวันแรก เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ยืนยันว่า การรักษาและกักตัวของนายอนุทินครบ 10 วัน ซึ่งได้ทำการรักษาเป็นเวลา 7 วันและอีก 3 วัน ได้สังเกตอาการ สามารถออกมาทำงาน โดยเวลาเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีอาการเป็นจุดเริ่มต้น ไม่ได้นับจากวันที่มีผลตรวจจากห้องแลป และยืนยันว่าการที่นายอนุทินได้ออกมาทำงาน มีการเว้นระยะห่างตามมาตรการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 65)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ศบค., สธ., โควิด-19, โรคประจำถิ่น, โอภาส การย์กวินพงศ์