นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน Meet & Greet “Thailand Moving Together : กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง” ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่สนามบิน เจ้าหน้าที่สายการบิน ผู้ประกอบการรถเช่า พนักงานขับรถแท็กซี่ พนักงานรักษาความปลอดภัย และแม่บ้าน โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา, นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษา รมว.คมนาคม, นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และผู้ประกอบการภาคเอกชนร่วมงาน
นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ยกเลิก Thailand Pass ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศปลายทางทั่วโลก เพื่อให้เกิดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว และคมนาคม ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ
ทั้งนี้ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญในการสื่อสารสร้างความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่นของประเทศไทย (Endemic Approach) พร้อมทั้งจะสนับสนุนให้แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินการให้เกิดผลตามที่คาดหวัง เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการควบคุม ป้องกันโรค และการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ
โดยที่ผ่านมา ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น ทั้งกิจกรรม Meet the Press : Move on จากโควิด-19 ใช้ชีวิตแบบมั่นใจ ที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้สื่อมวลชนนำข้อมูลที่ถูกต้องไปสื่อสารกับประชาชน และ Meet & Greet “Thailand Moving Together : กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง” ที่อิมแพคเมืองทองธานี ซึ่งมีการรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนสมาคม หน่วยงานผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม นำมาวางแผนจัดทำมาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ เช่น การสนับสนุนวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับผู้ประกอบการและประชาชน, ยกเลิก Thailand Pass, จัดให้มีแพทย์อาสาสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น
“รู้สึกดีใจที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเดิม นักท่องเที่ยว ผู้เดินทางจำนวนมากกลับมาใช้บริการด้วยรอยยิ้ม เจ้าหน้าที่ บุคลากร และผู้ประกอบการ พร้อมทำหน้าที่อำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ ทั้งหมดนี้เกิดจากการการร่วมแรงร่วมใจกันของทุกภาคส่วน อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงประจำท่าอากาศยาน (ศปม.ทย.) ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ สายการบิน ตลอดจนผู้ประกอบการ ที่ให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างดีเสมอมา จากนี้เชื่อมั่นว่าหากมุ่งพัฒนาด้านสาธารณสุขควบคู่กับการพัฒนาประเทศ จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม ให้มีความเข้มแข็ง สร้างความมั่นใจให้กับคนไทย และชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวได้” นายอนุทิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญขอให้ทุกคนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการ 2 U คือ Universal Prevention เว้นระยะห่าง ล้างมือ และใส่หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานที่อากาศปิด สถานที่แออัด และเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ และ Universal Vaccination เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรืออย่างน้อยได้รับวัคซีน 3 เข็ม แต่เนื่องจากมีการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศในสัดส่วนสูงกว่าผู้ติดเชื้อในประเทศ จึงขอให้ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4-6 เดือน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
นายอนุทิน กล่าวว่า มาตรการรับมือสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยอดผู้ติดเชื้อเริ่มขยับสูงขึ้นนั้น ระบบการคัดกรองผู้ป่วยที่ติดเชื้อ การรักษาพยาบาล การดูแล ป้องกัน ยังมีประสิทธิภาพที่สูง มาตรการต่างๆ ได้ผ่อนคลายเพื่อให้เกิดความสะดวกสูงสุด ทำโดยการประเมินจากสถานการณ์และความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขและบริการต่างๆ
“ประเทศต้องเดินไปแบบนี้ ซึ่งประเทศไทยยังได้รับความร่วมมือและความตระหนักจากประชาชนอยู่ระดับสูงกว่าหลายประเทศ ทำให้เรากล้าตัดสินใจเดินหน้า บางประเทศหน้ากากอนามัยขายไม่ออกแล้ว ไม่มีการใส่หน้ากากอนามัย แม้มีการติดเชื้ออย่างมากมาย เขาอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ มั่นใจในเรื่องของความรุนแรงของโรค เวชภัณฑ์ที่ประเทศมีอยู่ ซึ่งประเทศไทยก็เช่นกัน มั่นใจว่ามีศักยภาพเพียงพอในการที่จะให้การดูแล รักษาผู้ติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นจะพยายามทุกอย่างให้เศรษฐกิจได้ขับเคลื่อนไป โดยไม่เกิดสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน” นายอนุทิน กล่าว
ส่วนความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า มันคือโควิด-19 ซึ่งทุกสายพันธุ์ก็มีวิธีการดูแลใกล้เคียงกัน แต่ต้องปรับตามสถานการณ์ เรื่องวัคซีนเป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ วัคซีนยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายในการดำเนินงาน
“อย่าไปคิดว่า 3 เข็มแล้วพอแล้ว หรือตอนนี้เชื้อไม่รุนแรงมากแล้วไม่ฉีด ซึ่ง สธ.ยังยืนยันว่าการฉัดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะก่อให้เกิดความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการที่จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แม้ไม่ 100% แต่ความเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตประสิทธิภาพสูงมาก” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า สธ. ติดตามสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ตลอด สิ่งที่ให้ความสำคัญ คือ การประเมินผู้ป่วยอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องใช้บริการทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด รวมถึงผู้เสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่เป็นสถานการณ์ทั่วไป อยู่ในสภาพที่ควบคุมได้ ตราบใดที่จำนวนผู้สียชีวิตและผู้ป่วยหนักยังอยู่สภาพควบคุมได้ คงต้องดำเนินการมาตรการต่อไป
ในด้านมิติป้องกันรักษา มีความพร้อมในเรื่องวัคซีนที่เพียงพอ แต่คนมาฉีดต้องให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เรื่องยา แพทย์ สถานพยาบาล เตียง เครื่องมือทางการแพทย์มีความพร้อมมาก มั่นใจว่าถ้ามีผู้ป่วยมากขึ้นสามารองรับได้ ขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นถ้วนหน้า
“ช่วงนี้ของปีที่แล้วที่ประชาชนยังไม่ได้รับวัคซีน การติดเชื้อแตกต่างกันจากปัจจุบันอย่างเห็นชัด แสดงว่าวัคซีนทำงานตามหน้าที่ของเขาอยู่ เมื่อมีการฉีดเข็มกระตุ้นมากขึ้น แม้ผู้ติดเชื้อไม่ลดลง ด้วยการกลายพันธุ์ของเชื้อ แต่ความุรนแรงก็น้อยลง ส่วนสำคัญ เพราะได้วัคซีน ช่วยลดอาการของโรค นี่คือความจำเป็นของวัคซีน” นายอนุทิน กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ค. 65)
Tags: ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, นักท่องเที่ยว, นักท่องเที่ยวต่างชาติ, อนุทิน ชาญวีรกูล, เดินทางเข้าประเทศ, โควิด-19, โรคประจำถิ่น