นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่าจากการลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะ(เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา (รถไฟไทย-จีน) ระยะทาง 253 กม. กรอบวงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา ภาพรวมการก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 12% โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอลงนาม 3 สัญญา
ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประเมินว่าในปี 65 งานโยธาจะคืบหน้าประมาณ 20% คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มทดสอบเดินรถเสมือนจริงได้ในปี 69 เป็นระยะเวลาเวลา 6 เดือน จากนั้นจะเปิดให้บริการประชาชนภายในปี 70
ส่วน โครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 356.10 กม. ว่า เนื่องจากเป็นช่วงที่มีภูเขาน้อยเส้นทางรถไฟสามารถตัดตรงได้ มีพื้นที่เวนคืนน้อยกว่า ช่วงจากกรุงเทพ- นครราชสีมา หลักๆ จะก่อสร้างไปตามแนวเขตทางรถไฟที่มี ทำให้ใช้เวลาในการก่อสร้างน้อยกว่า แม้ว่าระยะทางจะยาวกว่าก็ตาม ภาพรวมการก่อสร้างจะง่ายและเร็วกกว่าโครงการในระยะที่1 (กรุงเทพ-นครราชสีมา ) โดยจะเปิดให้บริการหลังจากเปิดเฟสแรกประมาณ 1 ปี หรือในปี 2571
ด้านนายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษ รฟท. กล่าวว่า โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 มูลค่าเกือบ 3 แสนล้านบาท ขณะนี้ได้สรุปการศึกษาออกแบบแล้วและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เสนอไปสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว ซึ่ง สผ.มีความเห็นให้กลับมาทำจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ล่าสุด รฟท.ได้จัดทำและเสนอกลับไปที่สผ.แล้วเมื่อเดือน มิ.ย.65 อยู่ในขั้นตอนเตรียมชี้แจงต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)
ทั้งนี้ ตามแผนงานของโครงการ ใน เฟส 2 คาดว่าจะสรุปรายละเอียดเสนอคณะกรรมการรฟท.ในช่วง ต.ค.65 และเสนอไปที่กระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการในช่วงปลายปี 65 คาดว่าจะเปิดประกวดราคาก่อสร้างงานโยธาในปี 66 โดยการลงนามสัญญา จะต้องรอ EIA อนุมัติก่อน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณเดือนส.ค.66 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี แล้วเสร็จปี 70-71 คาดเปิดให้บริการได้ประมาณปี 71
เส้นทางช่วงนครราชสีมา -หนองคาย มีกรอบวงเงินค่างานโยธาประมาณ 2.1 แสนล้านบาท แนวเส้นทางมีภูเขาน้อย และเวนคืนน้อยกว่าช่วง กรุงเทพ- นครราชสีมา คาดว่าแบ่งงานโยธาออกไม่เกิน 10 สัญญา ต่างจากโครงการในเฟส 1 ที่มี 14 สัญญาเพื่อให้แต่ละสัญญามีมูลค่าไม่สูงเกินไปเพราะต้องการให้ผู้รับเหมาขนาดกลางร่วมแข่งขันได้ แต่ในเฟส 2 ผู้รับเหมาขนาดกลางหลายรายมีคุณสมบัติจากประสบการณ์การก่อสร้างช่วงเฟส 1 แล้ว
โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 มีจุดเริ่มต้นที่หลังสถานีนครราชสีมา จุดสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำโขงฝั่งไทยมี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย นาทาและเชียงรากน้อย ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง (Maintenance Base) จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย บ้านมะค่า หนองเม็ก โนนสะอาด และนาทา มีย่านเก็บกองตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า จำนวน 1 แห่งที่นาทา
ส่วนความคืบหน้างานสัญญา 2.3 (สัญญาการวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ซึ่ง รฟท.ได้ลงนามกับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล(CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และ บริษัทไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) ไปเมื่อวันที่ 28 ต.ค.63 ขณะนี้เป็นการทำงานในขั้นตอนการออกแบบและการตรวจรับแบบ ยังมีการแก้ไขบางประเด็นที่ส่งกลับไปให้จีนดำเนินการ โดยแบบจะสรุปได้ภายในปี 65 ในขณะเดียวกันจีนเองจะต้องเตรียมจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มงาน
นายกำพล กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่ให้งานสัญญา 2.3 เข้าทำงานนั้นกำหนดเป็น 4 ช่วง (Key Date ) โดยจะต้องสอดคล้องกับการก่อสร้างงานโยธา โดย Key Date แรก จะเป็นการส่งมอบพื้นที่ส่วนของกลุ่มงานอาคารไฟฟ้า สถานีจ่ายไฟฟ้า และศูนย์ควบคุมการสื่อสาร ตามแนวเส้นทาง ซึ่งจะก่อสร้างเสร็จก่อน คาดว่าจะเริ่มส่งมอบให้ในปี 67 จากนั้นจะทยอย ส่งมอบพื้นที่ในกลุ่มงานทาง โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง (Key Date) โดยจุดสุดท้ายที่จะส่งมอบคือ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ประมาณปี 69
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ค. 65)
Tags: กรมการขนส่งทางราง, พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์, รถไฟความเร็วสูง