THAI คาดพ้นแผนฟื้นฟูฯ-กลับเข้า SET ต้นปี 68 มั่นใจส่วนผถห.พลิกบวก 7 หมื่นลบ.

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวในการแถลงชี้แจงการยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของ THAI ว่า บริษัทคาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และนำหุ้น THAI กลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ในต้นปี 68 โดยภายใต้การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการจะทำให้บริษัทมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาประมาณ 8 หมื่นล้านบาท จากการแปลงหนี้เป็นทุน 5.5 หมื่นล้านบาท และการขายหุ้นเพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ส่วนของผู้ถือหุ้นพลิกกลับมาเป็นบวกราว 7 หมื่นล้านบาทในปี 67 จากปัจจุบันที่ติดลบถึง 7.8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ หลังจากผ่านขั้นตอนแปลงหนี้เป็นทุนและขายหุ้นเพิ่มทุนแล้ว จะทำให้กระทรวงการคลังถือหุ้นในสัดส่วนราว 33% และเมื่อรวมกับสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารออมสิน รวมแล้วส่วนการถือหุ้นของภาครัฐจะอยู่ที่ราว 40% ซึ่งยังคงสถานะเป็นผู้ถือหุ้นหลักและ THAI ยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติตามที่รัฐบาลสนับสนุน แต่ย้ำว่า THAI จะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขให้ศาลล้มละลายกลางแล้วจะมีการประชุมเจ้าหนี้ที่มีอยู่ราว 1.3 หมื่นรายเพื่อโหวตรับแผนใหม่ในราวปลายเดือน ส.ค.-ต้น ก.ย.65 และคาดว่าศาลล้มละลายกลางจะผ่านแผนฟื้นฟูในเดือน ก.ย.-ต.ค.65 ต่อจากนั้นบริษัทจะสามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้ทันที

ขณะที่ในเดือน มิ.ย.65 บริษัทมีกระแสเงินสด 14,000 ล้านบาท มากขึ้นจากเดิมที่คาดจะมีอยู่ราว 5,000 ล้านบาท

ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ THAI กล่าวว่า ในส่วนหนี้เดิมของบริษัทปัจจุบันลดลงมาเหลือ 2.3 แสนล้านบาท จาก 4 แสนล้านบาทในช่วงยื่นแผนฟื้นฟูฯ และจากการแปลงหนี้เป็นทุนก็ทำให้จำนวนหนี้ลดลง รวมกับเงินหมุนเวียนจากการดำเนินงานก็ช่วยลดหนี้ ซึ่งคาดว่าในปี 69 คาดว่าจะมีมูลหนี้คงเหลือไม่ถึง 2 แสนล้านบาทแล้ว อย่างไรก็ตาม จำนวนหนี้ดังกล่าวได้ขอขยายระยะเวลาการชำระ 15 ปีไว้ก่อนหน้าแล้ว

บริษัทยังคาดว่าธุรกิจจะค่อยๆดีขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หลายประเทศและไทยเปิดประเทศมีการเดินทางมากขึ้น โดยคาดว่า จำนวนผู้โดยสารในปี 65 จะเพิ่มเป็น 4.48 ล้านคน จากปีก่อนมี 1.64 ล้านคนซึ่งเป็นระดับต่ำสุด โดยใปนี 66 -68 คาดว่าจำนวนผู้โดยสาร 9.18 ล้านคน, 11.84 ล้านคน และ 12.44 ล้านคนตามลำดับ เทียบกับปี 62 ที่มี 19.42 ล้านคน

ส่วนรายได้ก็ทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยปี 65 คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นมาที่ 80,800 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 22,100 ล้านบาท และเทียบกับปี 62 ที่มีรายได้ 183,200 ล้านบาท และในช่วงปี 66-68 คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นไปเป็น 129,700 ล้านบาท , 157,500 ล้านบาท และ 162,400 ล้านบาท ตามลำดับ

ด้านกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 65 คาดว่าจะฟื้นเป็นบวกที่ 12,500 ล้านบาท จากปี 63-64 ที่มีผลขาดทุน 9,000 ล้านบาท และ 1,100 ล้านบาท ส่วนในช่วงปี 66-68 คาดว่าจะมี EBITDA ที่ 32,400 ล้านบาท 43,700 ล้านบาท และ 44,900 ล้านบาท ตามลำดับ

“ตั้งแต่ปลายปี 64 สถานการณ์ดีขึ้นมาตลอด ก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีเงินกู้จำนวนมาก เรามองเห็นที่มีปัญหาเรื่องโครงสร้างทุนจากความเสียหายจากสถานการณ์โควิด ส่วนของทุนติดลบไปกว่า 1.2 แสนล้านบาท ก็มาปรับโครงสร้างทุน กระทรวงการคลังเป็นตัวแทนภาครัฐที่ยังเป็นผู้ถือหุ้นหลัก แต่การบินไทยจะไม่เป็นรัฐวิสาหกิจอีก…โดยรวมการแก้ไขแผนจะทำให้ส่วนของทุนมีความแข็งแกร่งขึ้น ถ้าแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนได้ 8 หมื่นล้านบาททำได้สำเร็จ” นายศิริ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทยังจำเป็นต้องมีสินเชื่อใหม่ 1.25 หมื่นล้านบาทเพื่อสำรองกรณีเหตการณ์ที่ไม่คาดคิด โดยจะเปิดเงื่อนไขให้ผู้ปล่อยสินเชื่อใหม่ใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน และในส่วนหนี้ของกระทรวงการคลังจะให้แปลงหนี้เป็นทุน 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนเจ้าหนี้ (รวมหุ้นกู้) กว่า 1 แสนล้านบาทจะให้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนในอัตรา 2.5452 บาท/หุ้น และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมในราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาท/หุ้น

นายปิยสวัสด์ กล่าวถึงทิศทางธุรกิจของ THAI ว่า ในเดือน มิ.ย.จำนวนผู้โดยสารของการบินไทย และไทยสมายล์ มีอยู่ 1.5 หมื่นคน/วัน ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 3 ของผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิ อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 75% โดยในเส้นทางยุโรป มี Cabin Factor 90% ส่งผลให้บริษัทสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านบาท/เดือน

ขณะที่อัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงไตรมาส 3/65 ที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ปี 65 บริษัทได้เพิ่มจุดบินและความถี่เพื่อรองรับการฟื้นตัวของปริมาณการเดินทาง ได้แก่ เดลี มุมไบ เจนไน เบงกาลูรู ละฮอร์ การาจี อิสลามาบัด ฮานอย โฮจิมินห์ พนมเปญ เมลเบิร์น ลอนดอน จาการ์ตา ธากา แฟรงก์เฟิร์ต ไทเป สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน มิวนิก ซูริก ฯลฯ และช่วงไตรมาสที่ 3 มีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบิน ได้แก่ จาการ์ตา ไทเป สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน มิวนิก ซูริก โซล และเปิดให้บริการเส้นทางบินเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมเส้นทางหลักไปยังจุดหมายปลายทางในภูมิภาคต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ โตเกียว (สนามบินฮาเนดะ) บรัสเซลส์ เจดดาห์

ปัจจุบัน ฝูงบินของ THAI มีจำนวนเครื่องบิน 61 ลำ โดยการบินไทยใช้อยู่ 41 ลำ และไทยสมายล์ 20 ลำ มีอายุเฉลี่ย 10 ปี แต่จากสถานการณ์การบินฟื้นตัวดีขึ้น บริษัทก็จะพิจารณานำเครื่องบินที่เตรียมปลดระวางกลับมาใช้ก่อน 5 ลำ ได้แก่ แอร์บัส เอ330-300 จำนวน 3 ลำ และ โบอิ้งB777-200ER จำนวน 2 ลำจะเข้ามาในปลายปี 65

นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างจัดหาเครื่องบินแอร์บัส A350-900 จำนวน 2 ลำ ซึ่งได้ลงนามใน Letter of Intent (LOI) และยื่นต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เมื่อ 29 มิ.ย.65 เพื่อนำเสนอให้ รมว.คมนาคม พิจารณาอนุมัติรับอากาศยานเข้าประจำการฝูงบิน และเตรียมทำสัญญาเช่าภายใน 75 วันหลังจากเซ็น LOI หรือคาดว่าในเดือน ม.ค.66 จะนำมาบินได้

ขณะที่เครื่องบินแอร์บัส A380-600 จำนวน 2 ลำที่เตรียมขายนั้น กำลังพิจารณาว่าจะนำกลับมาใช้บินหรือไม่ เพราะเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ทำให้การขึ้นบินแต่ละครั้งต้องใช้ปริมาณน้ำมันค่อนมาก ก็จะศึกษาให้รอบคอบก่อน แต่หากขายก็คาดว่าจะไม่ได้ราคาที่ดีนัก

ทั้งนี้ THAI มีเครื่องบินรอการขายอยู่ทั้งสิ้น 16 ลำ คือ B777-200 จำนวน 6 ลำ , A340-500 จำนวน 2 ลำ , A340-600 จำนวน 2 ลำ และ B777-300 จำนวน 6 ลำ ส่วนที่ขายได้แล้ว 5 ลำ เป็น A340-500 จำนวน 1 ลำ และ A340-600 จำนวน 4 ลำ ซึ่งขายให้กับเอกชนจีนได้ราคาดี โดยอยู่กระบวนการพิจารณาอนุญาตขายของ กพท. และรมว.คมนาคม

นอกจากนี้ การบินไทย ยังได้กลับไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสานต่อโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและกิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน(MRO) ที่ได้หยุดชะงักไปในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top