นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาน้ำยางว่า จากสภาวะราคาน้ำยางสดที่แกว่งตัวค่อนข้างสูงในช่วงปลายเดือน พ.ค. ถึงต้นเดือน มิ.ย. ทำให้ชาวสวนยางเกิดความกังวลใจ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนตกค่อนข้างชุก ทำให้ผลผลิตออกมาน้อย ขณะเดียวกัน เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการหลายรายต้องส่งมอบสินค้าตามสัญญา จึงทำให้ความต้องการใช้ยางในขณะนั้นค่อนข้างสูง ส่งผลให้ราคาน้ำยางขยับตามกลไกตลาด
นายณกรณ์ กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้ถือว่าราคากลับมาปกติตามภาวะของตลาด แต่อย่างไรก็ตาม กยท. มีมาตรการเพื่อรับมือในเรื่องราคาที่ผันผวน ได้แก่ โครงการชะลอขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยให้เงินอุดหนุนกับสถาบัน เป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อยางกับเกษตรกรรายย่อยหรือสมาชิกของสถาบัน เพื่อนำมาเก็บไว้และรอขายในเวลาที่เหมาะสม
รวมถึงโครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ (ยางแห้ง) วงเงิน 20,000 ล้านบาท ชดเชยดอกเบี้ยในอัตราที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ กยท. ได้ร่วมกับผู้ประกอบการรับซื้อน้ำยางจากชาวสวนยางในช่วงเวลาผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ลดภาวะการแกว่งตัวของราคาในตลาด ทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถลดซัพพลายส์ออกจากตลาดได้
“กยท. พร้อมให้การสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางในการบริหารจัดการผลผลิตของตนเอง ปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ในแต่ละห้วงเวลาตามความเหมาะสม พร้อมทั้งสนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชร่วมยาง เลี้ยงสัตว์ ลดการพึ่งพิงพืชเชิงเดี่ยว หรือผลผลิตเพียงอย่างเดียว ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความมั่นคงทางรายได้มากขึ้น” นายณกรณ์ กล่าว
ด้าน นายพงษ์นเรศ วนสุวรรณกุล นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า อีกสาเหตุที่ส่งผลต่อราคาน้ำยาง เป็นเพราะหลายประเทศทั่วโลกปลดล็อกจากโรคโควิด-19 แล้ว ดังนั้น ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยาง เช่น ถุงมือยาง และหน้ากากอนามัย จึงลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้อาจมองเป็นข้อดีได้เช่นกัน เพราะจะทำให้ราคาของน้ำยางปรับคืนสู่สมดุล ตามหลักอุปสงค์และอุปทาน
“เกษตรกรหลายคนกังวลว่า ราคาน้ำยางเคยขึ้นสูงมาก ทำไมถึงลงมาเยอะ แต่อย่าลืมว่าราคาของผลิตภัณฑ์ยางตัวอื่นๆ เช่น ขี้ยาง คงอยู่ที่ช่วง 40 ปลายๆ ถึง 50 ต้นๆ มานาน สาเหตุที่ไม่ขึ้นไปมากกว่านั้น เพราะมันสามารถเก็บสต็อกไว้ได้นาน ไม่เหมือนกับน้ำยาง ราคาจึงเคลื่อนไหวไม่เยอะ ถ้าความต้องการสูง ราคาขายย่อมสูง ต้องแย่งกันซื้อแย่งกันผลิต กลับกันถ้าความต้องการชะลอตัว ราคาก็จะตก ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของตลาดทุกประการ” นายพงษ์นเรศ กล่าว
นายพงษ์นเรศ กล่าวยืนยันว่า ทางสมาคมซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิตน้ำยางข้นทั้งประเทศ ไม่มีใครอยากเห็นราคาน้ำยางตกต่ำ จนเกษตรกรได้รับผลกระทบ และจะพยายามเต็มที่ เพื่อผลักดันราคาให้อยู่ในกรอบสมดุล เหมาะสมต่อความต้องการของทุกฝ่าย
ด้าน นายอดิศักดิ์ กองวารี อุปนายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำยางราคาตก ว่า แม้ตามหลักแล้วเมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ราคาน้ำยางจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ในสถานการณ์จริง จำเป็นต้องวิเคราะห์ให้รอบด้านกว่านั้นว่ามีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใด เข้ามาทดแทนหรือช่วงชิงส่วนแบ่งทางตลาดด้วยหรือไม่
“ตอนนี้ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมรถยนต์ ถุงมือยาง หรือการผลิตเส้นด้ายยางยืด ทำหน้ากากอนามัย ล้วนมีปริมาณความต้องการลดลง พอเป็นเช่นนี้ ต้องมองภาพรวมด้วยว่า ยางธรรมชาติมีคู่แข่งไหม หรือมีสินค้าทดแทนเข้ามา เช่น ยางสังเคราะห์ และพลาสติกเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในท้องตลาด หากไม่พิจารณาปัจจัยเหล่านี้ อาจเป็นการมองข้ามตัวแปรสำคัญไป” นายอดิศักดิ์ กล่าว
นายอดิศักดิ์ กล่าวเสริมว่า วิธีการช่วยให้ราคาน้ำยางเพิ่มสูงขึ้น ยังอยู่ที่การสนับสนุนของภาครัฐ ว่าจะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการแปรรูป และเพิ่มมูลค่าน้ำยางให้สูงขึ้นอย่างไร หากสนับสนุนการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าอย่างแข็งขัน มั่นใจว่าจะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และทำให้ประเทศสามารถแข่งขันกับต่างชาติในระยะยาวได้อย่างแข็งแกร่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 65)
Tags: กยท., การยางแห่งประเทศไทย, ณกรณ์ ตรรกวิรพัท, น้ำยางสด, พงษ์นเรศ วนสุวรรณกุล, ยาง, อดิศักดิ์ กองวารี