นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 3 เรื่อง ดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว และพายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนืออย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 2-3 ก.ค. 65
ประกอบกับในช่วงวันที่ 30 มิ.ย.-2 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
กรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ จัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง กรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรง จนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เร่งเข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์
ขณะเดียวกัน ได้ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ที่สำคัญให้ร่วมบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนเตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยง ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที
ปัจจุบัน (30 มิ.ย. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 41,125 ล้าน ลบ.ม. (54% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 34,960 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 9,738 ล้าน ลบ.ม. (39% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 15,133 ล้าน ลบ.ม.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 65)
Tags: กรมชลประทาน, น้ำท่วม, ประพิศ จันทร์มา, ฝนตก