องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุเตือนในวันพุธ (30 มิ.ย.) ว่า ภาคเกษตร-อาหารทั่วโลกจะเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ในทศวรรษนี้
นายฉู ตงหยู ผู้อำนวยการ FAO กล่าวในการแถลงข่าวว่า “ราคาอาหาร, ปุ๋ย, อาหารสัตว์ และเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น ตลอดจนภาวะการเงินที่ตึงตัว กำลังทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องทุกข์ทรมาน”
“ประชาชนประมาณ 19 ล้านคนอาจเผชิญกับภาวะขาดสารอาหารเรื้อรังทั่วโลกในปี 2566 หากการผลิตอาหารทั่วโลกลดลงและอุปทานอาหารจากประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ รวมถึงรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ความพร้อมด้านอาหารทั่วโลกลดลง”
นายฉูกล่าว
สำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อวันพุธ (29 มิ.ย.) ว่า ทั้ง 2 หน่วยงานของสหประชาชาติ (UN) ระบุในรายงานร่วมเรื่อง “Agricultural Outlook for 2022-2031” ว่าภาคเกษตร-อาหารจำเป็นต้อง “เลี้ยงประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในลักษณะที่ยั่งยืน”
นอกจากนี้ รายงานระบุว่า ภาคเกษตร-อาหารต้องรับมือกับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศและผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตลอดจนอุปทานอาหารที่หยุดชะงักเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
รายงานดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่ “การประเมินแนวโน้มระยะกลางสำหรับตลาดสินค้าเกษตร”
ทั้ง 2 องค์กรเน้นย้ำถึง “บทบาทสำคัญของการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มเติมในด้านการผลิต, เทคโนโลยีสารสนเทศ และโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนทุนด้านบุคลากร เพื่อเพิ่มความสามารถในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร”
ทั้งนี้ ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ที่ฟื้นตัวหลังการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตและการขนส่งก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครนเป็น “ซัพพลายเออร์หลักด้านธัญพืช”
รายงานระบุว่า การบริโภคอาหารทั่วโลก “คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4% ต่อปีในช่วงทศวรรษหน้า และจะได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของจำนวนประชากรเป็นหลัก”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 65)
Tags: FAO, OECD, ขาดแคลนอาหาร, ฉู ตงหยู, ราคาอาหาร, อาหาร