ข่าวหุ้น 29 มิ.ย. 65 12:57น. 2022-06-29
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ตเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์เจเค จำกัด (JK AMC) กล่าวถึงการร่วมลงทุนใน JK AMC ระหว่างธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ JMT ว่า JK AMC ตั้งเป้าพอร์ตบริหารหนี้ในปี 68 เพิ่มขึ้นแตะระดับ 100,000 ล้านบาท และจะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรม AMC
ศักยภาพทางธุรกิจของ JK AMC ที่จะส่งเสริมให้ไปถึงเป้าหมายทางธุรกิจได้คือ 1.ความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารหนี้ของ JMT และ JMT ยังมีบริษัทในกลุ่มที่จะช่วยให้ JK AMC มีต้นทุนที่แข่งขันได้ 2. การใช้ช่องทางต่างๆ ของธนาคารช่วยประชาสัมพันธ์ทรัพย์ NPA ไปสู่ลูกค้าที่สนใจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้ซื้อทรัพย์ NPA ทั่วประเทศ และ 3. โอกาสเพิ่มมูลค่าธุรกิจอื่นๆ ให้ครบวงจร เช่น การรับปรับปรุงบ้านให้กับผู้ซื้อทรัพย์ด้อยคุณภาพ และราคาที่สมเหตุสมผล การช่วยเหลือลูกค้าที่มีประวัติเครดิตที่ดี เป็นต้น
ปัจจุบัน JK AMC ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ดำเนินธุรกิจบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) แล้ว โดยมีทุนจดทะเบียนประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มบริษัทในเครือ KBANK และ JMT ถือหุ้นในสัดส่วนฝ่ายละ 50% โดยบริษัทคาดว่าจะมีการโอนพอร์ตหนี้จาก KBANK เข้ามารอบแรกประมาณ 30,000 ล้านบาทภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ และเบื้องต้นธุรกิจจะเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/65 เป็นต้นไป รวมถึงคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้-กำไรจากธุรกิจของ JK AMC เข้ามาในช่วงไตรมาส 4/65
กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ JK AMC หลังจากนี้ นอกเหนือจากการรับโอนพอร์ตหนี้จาก KBANK แล้ว ยังมีเป้าหมายการรับซื้อหนี้จากสถาบันการเงินแห่งอื่นๆ ด้วย พร้อมคาดว่าธุรกิจของ JK AMC จะช่วยหนุนการเติบโตของ JMT เป็นแบบ J-Curve โดยเฉพาะผลการดำเนินงานในปีหน้าที่จะบันทึกงบฯเข้ามาเต็มปี
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าจะโอนหนี้เสียให้บริษัทร่วมทุน JK AMC ปีนี้ประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นรอบแรกประมาณ 30,000 ล้านบาทภายในเดือน มิ.ย. นี้ และที่เหลืออีก 20,000 ล้านบาทในรอบถัดไป จากนั้นการโอนหนี้จะขึ้นกับจำนวนหนี้ที่เข้ามาในระบบของ KBANK vย่างไรก็ตามคาดว่าปีนี้และปีหน้าจำนวนหนี้เสียที่จะเข้ามามีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีนักและปัญหาหนี้ครัวเรือนยังสูง อาจทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้
“การขายหนี้ในครั้งนี้ จะส่งผลให้ NPL และการตั้งสำรองในอนาคตของธนาคารลดลง ทำให้ธนาคารมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้”นายพัชร กล่าว
สำหรับการตั้ง JK AMC ขึ้นมาเป็นอีกทางเลือกในการบริหารหนี้เสียของธนาคาร เพิ่มเติมจากการบริหารจัดการเองภายในหรือการเปิดประมูล โดยธนาคารจะเลือกวิธีการบริหารที่มีประสิทธิภาพและให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ในส่วนของการขายหนี้เสียให้ JK AMC นอกจากธนาคารจะได้รับเงินจากการขายหนี้แล้ว ธนาคารจะได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรของการบริหารหนี้จาก JK AMC ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 65)
Tags:
JMT ,
บริหารสินทรัพย์เจเค ,
สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ,
เจ เอ็ม ที เน็ตเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส