ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ระบุว่า ทิศทางราคาอาหารโลกถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ต้นทุนราคาพลังงาน ปุ๋ย และอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น จึงหนุนให้ราคาอาหารพุ่งขึ้นสูงตามไปด้วย และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร จนทำให้ปัจจุบันหลายประเทศใช้นโยบาย Food Protectionism เพื่อปกป้องการบริโภคและรักษาระดับราคาอาหารในประเทศ โดยปัจจุบันมีจำนวน 20 ประเทศที่จำกัดการส่งออกสินค้าอาหาร โดยเฉพาะอาหารในกลุ่มธัญพืช และน้ำมันปรุงอาหาร
ทั้งนี้ Food Protectionism รอบนี้รุนแรงกว่าวิกฤตอาหารในปี 51 และวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ในปี 63 จะเห็นได้ว่าวิกฤตสงครามรัสเซียและยูเครนในปี 65 มีสัดส่วนปริมาณการค้าโลกในรูปของแคลอรี่ที่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 18% ของปริมาณการค้าโลกในรูปของแคลอรี่ที่ได้รับจากอาหารทั้งหมด โดยเฉพาะอาหารในกลุ่มธัญพืช และ น้ำมันปรุงอาหาร ซึ่งสูงกว่าในช่วงวิกฤตอาหารปี 51 และในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในปี 63 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 12% และ 5% ของปริมาณการค้าโลกในรูปของแคลอรี่ที่ได้รับจากอาหาร ตามลำดับ
จากการที่วิกฤตขาดแคลนอาหาร จนทำให้ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มใช้นโยบาย Food Protectionism จะส่งผลต่อไทยอย่างไร? นั้น Krungthai COMPASS มองว่า ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารสุทธิที่สำคัญของโลกจึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหารโลกค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ยังมีสินค้าเกษตรและอาหารบางประเภทที่ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้า เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดังนั้นไทยควรนำเทคโนโลยีเกษตรมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้มากขึ้นในสินค้าที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ เช่น การใช้เทคโนโลยี IoT หรือเซ็นเซอร์วิเคราะห์แร่ธาตุในดินเพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรสามารถเลือกชนิดของปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดิน ซึ่งจะทำให้พืชและดินตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดีขึ้น หรือการประยุกต์ใช้ Biotechnology มาช่วยในการปรับปรุงสายพันธุ์พืชเพื่อให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นสำหรับระยะสั้น
ในระยะสั้น โอกาสที่ไทยจะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารมีน้อย เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าอาหารและวัตถุดิบกลุ่มสำคัญยังน้อยกว่าผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศ สะท้อนจากสัดส่วนความต้องการบริโภคในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ราว 25-90% ของผลผลิตในประเทศ เช่นเดียวกับอัตราส่วนสต็อกต่อความต้องการใช้ในประเทศของสินค้าอาหารสำคัญส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังสูงหรือใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต
แม้ว่าอาจเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกอาหารบางชนิดเพิ่มขึ้น เช่น สินค้าปศุสัตว์ แต่ต้นทุนการผลิตที่โน้มสูงขึ้น ก็อาจลดทอนโอกาสที่มี เช่น การผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งต้องใช้กากถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ของไทยมีต้นทุนที่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบถึง 80% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากอาหารสัตว์คิดเป็นต้นทุนถึงร้อยละ 60-70% ของต้นทุนรวม ทำให้ราคาจำหน่ายเนื้อสัตว์มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะไก่เนื้อ ซึ่งพึ่งพาการส่งออกถึง 60% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของไทย
ดังนั้นภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการวางนโยบายที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องการจัดโซนนิ่งในการเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารกับการปลูกพืชเพื่อผลิตพลังงานทดแทน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดปัญหาขาดแคลน รวมทั้งพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศทางการเกษตรและอาหารที่เชื่อมโยงกันและครอบคลุมทุกมิติ ทั้งข้อมูลพื้นที่เกษตรกรรม ข้อมูลการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต ข้อมูลความเสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ข้อมูลคุณภาพดิน เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาวางแผนและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ถูกต้อง และรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการและการกำหนดนโยบายในภาวะวิกฤตทำได้ดีขึ้น อีกทั้งออกมาตรการสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือด้านต้นทุนเพาะปลูก เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยการผลิตทั้งค่าปุ๋ย และค่าแรงงานที่สูงขึ้น
“Krungthai COMPASS มองว่า ไทยควรนำเทคโนโลยีเกษตรมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ อีกทั้งภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการจัดโซนนิ่งการเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารกับการปลูกพืชเพื่อผลิตพลังงานทดแทน” เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ขณะที่ในระยะกลาง-ยาว วิกฤตสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้นำสินค้าเกษตรให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดสินค้าเกษตรโลก โดยปัจจุบันหลายประเทศมีแผนผลักดันในการเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น เช่น จีนที่มีนโยบายปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (Self Sufficiency) ซึ่งจะส่งผลให้จีนมีความต้องการนำเข้าอาหารลดลง
การที่จีนเริ่มให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่มากขึ้น โดยเฉพาะข้าวที่จีนมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีผลผลิตต่อไร่สูงถึง 3,600 กิโลกรัม ทำให้ผลผลิตข้าวของจีนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 1,099 กิโลกรัม/ไร่ ในปี 2559 เป็น 1,136 กิโลกรัม/ไร่ ในปี 2565 และคาดว่าในปี 2568 ผลผลิตข้าวจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,277 กิโลกรัม/ไร่ ทำให้ในระยะต่อไปจีนจะมีผลผลิตข้าวมากจนเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ และลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวลงชัดเจน กระทบการส่งออกข้าวขาวของไทยซึ่งพึ่งพาตลาดจีนเป็นตลาดหลัก อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายของผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่อย่างจีน โดยเพิ่มการผลิตข้าวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารจะทำให้ตลาดค้าข้าวโลกแข่งขันรุนแรงขึ้น และกระทบกับความสามารถในการแข่งขันการส่งออกข้าวไทย ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าคู่แข่งอยู่แล้ว หรือประเทศอิหร่านที่ประกาศเดินหน้าโครงการปลูกพืชเกษตร เพื่อหาแหล่งผลิตทดแทนสินค้าเกษตรที่ขาดแคลน และมีศักยภาพในการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพความมั่นคงทางด้านอาหารควบคู่ไปกับการลดรายจ่ายในการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ เช่น ข้าว พืชที่สกัดทำน้ำมัน และธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 65)
Tags: ธนาคารกรุงไทย, วิกฤตอาหารโลก, ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS, อาหารโลก