สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านปริวรรตเงินตราซึ่งระบุว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจจะสิ้นสุดลงในไม่ช้านี้ หลังจากไทยเริ่มเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เงินบาทร่วงลง 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในไตรมาสนี้ ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงรายไตรมาสรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักในไทยในช่วงต้นปี 2563 ขณะที่ไทยมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงที่สุดในรอบ 9 ปี และอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบดังกล่าวมีแนวโน้มบรรเทาลง เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และรัฐบาลไทยประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นายแกลวิน เชีย ผู้เชี่ยวชาญด้านปริวรรตเงินตราของตลาดเกิดใหม่จากบริษัทแนทเวสต์ มาร์เก็ตส์ (Natwest Markets) ในสิงคโปร์กล่าวว่า “เมื่อดอลลาร์อ่อนค่าลง และเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวไหลเข้าเพิ่มขึ้น หรือธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินบาทก็จะชะลอการอ่อนค่า และจากนั้นก็อาจจะทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่ง”
รัฐบาลไทยคาดการณ์ว่า การเปิดประเทศจะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยราว 1.5 ล้านคนต่อเดือนในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ที่มีนักท่องเที่ยวไม่ถึง 300,000 คน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินบาท เมื่อพิจารณาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของระบบเศรษฐกิจไทยก่อนเกิดโรคระบาด
ด้านธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัว 2.9% ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.9% โดยมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จะฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากแรงกระตุ้นของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงไตรมาส 4/2565
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 65)
Tags: ค่าเงินบาท, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., นักท่องเที่ยว, อัตราดอกเบี้ย, เงินบาท, แบงก์ชาติ